Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ตลาดทุน 4.0


สัปดาห์ที่ผ่านมา มีกิจกรรมที่เกี่ยวกับการส่งเสริมความยั่งยืนในตลาดทุนและภาคการเงิน 3 งานไล่เลี่ยกัน เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวในเรื่องการลงทุน-การเงินที่ยั่งยืนในบ้านเรา ที่องค์กรในภาคดังกล่าว ทั้งธนาคาร สถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน และบรรดาผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ต้องพิจารณาปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นกระแสใหญ่ของภาคการเงินและตลาดทุนโลกไม่มากก็น้อย

เริ่มจากงาน “Bangkok Sustainable Banking Forum 2019” (13 ส.ค.) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องการสื่อสารไปยังสถาบันการเงินต่างๆ ในฐานะผู้จัดสรรทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ต่อบทบาทในการเสริมสร้างความยั่งยืนทั้งต่อเศรษฐกิจและสังคม และการร่วมจัดการกับความท้าทายและปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ในมิติของสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG)


ในงานนี้ 15 ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของไทย ตกลงร่วมกันที่จะกำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในด้านการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ 4 ข้อ คือ การแสดงเจตนารมณ์ในการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Leadership and Responsible Lending Commitment) การคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder Engagement) การกำหนดนโยบายและกระบวนการทำงานภายใน (Internal Implementation Mechanisms) และมีความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล (Transparency)

ธนาคารพาณิชย์ 15 ราย ที่ร่วมแสดงเจตนารมณ์ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารเกียรตินาคิน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารทิสโก้ ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารธนชาต ธนาคารยูโอบี ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ธนาคารไอซีบีซี (ไทย)

ถัดมาเป็นงานเปิด “โครงการเสริมสร้างตลาดทุนธรรมาภิบาลเฉลิมพระเกียรติ” (14 ส.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต้องการเชิญชวนให้องค์กรในตลาดทุน ประกอบธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม บูรณาการเข้าไปอยู่ในการประกอบธุรกิจ (in-process) และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ให้เป็นที่ยอมรับในระดับประชาคมโลก


ในงานนี้ 13 องค์กรในตลาดทุน ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ที่จะมุ่งสู่การเป็นองค์กรธรรมาภิบาล ด้วยการที่องค์กรแต่ละแห่ง จะเลือกเรื่องที่ต้องการดำเนินการตามบทบาทของแต่ละหน่วยงาน กำหนดเป้าหมายที่ต้องการบรรลุ และรายงานความคืบหน้าในแต่ละปี โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี

องค์กรในตลาดทุน 13 แห่ง ที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย

งานที่สาม เป็น “การประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือด้านการลงทุนอย่างรับผิดชอบ (ESG Collaborative Engagement) ของนักลงทุนสถาบัน” (15 ส.ค.) ที่กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ต้องการริเริ่มผลักดันแนวปฏิบัติการระงับลงทุน (Negative List Guideline) ในบริษัทจดทะเบียนที่มีประเด็นปัญหา ESG ด้วยหลักการกำหนดรายชื่อบริษัทที่นักลงทุนสถาบันจะไม่เข้าลงทุนเพิ่ม ภายหลังการเข้ามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาและฟื้นมูลค่าการลงทุนในบริษัทที่ลงทุน ไม่สำเร็จ (เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน ข้อที่ 4: Escalating Investee Companies)


ในงานนี้ ผู้ลงทุนสถาบัน 32 ราย ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) รวมกันกว่า 10.8 ล้านล้านบาท ได้ร่วมกันลงนามรับแนวปฏิบัติการระงับลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่มีประเด็นปัญหา ESG ดังกล่าว ไปดำเนินการ โดยตกลงร่วมกันที่จะไม่เข้าลงทุนเพิ่มเติมในบริษัทที่มีปัญหานั้นเป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือจนกว่าจะแก้ไขปัญหาสำเร็จ เพื่อผลักดันให้บริษัทกลับมาดำเนินธุรกิจที่มีความยั่งยืนและสอดคล้องกับหลักการ ESG ต่อไป

ผู้ลงทุนสถาบันที่ร่วมลงนาม 32 ราย ประกอบด้วย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) สำนักงานประกันสังคม (สปส) บลจ. กรุงไทย บลจ. กรุงศรี บลจ. กสิกรไทย บลจ. ทหารไทย บลจ. ทาลิส บลจ. ไทยพาณิชย์ บลจ. ธนชาต บลจ. บัวหลวง บลจ. บางกอกแคปปิตอล บลจ. พรินซิเพิล บลจ. ฟิลลิป บลจ. ภัทร บลจ. แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) บลจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ บลจ. วรรณ บลจ. วี บลจ. สยาม ไนท์ ฟันด์ แมเนจเม้นท์ บลจ. อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด (ประเทศไทย) บลจ. อินโนเทค บลจ. เอ็มเอฟซี บลจ. แอสเซท พลัส บมจ. กรุงเทพประกันชีวิต บมจ. พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) บมจ. เมืองไทยประกันชีวิต บมจ. ไทยประกันชีวิต บมจ. ไทยรีประกันชีวิต บมจ. ไทยสมุทรประกันชีวิต บมจ. เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต บจก. เอไอเอ


[Original Link]