Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

หนังสือ Corporate SDG Impact

From Purpose to Performance

แนวโน้มการดำเนินธุรกิจในโลกยุคปัจจุบัน กำลังเปลี่ยนถ่ายจากการมุ่งสนองประโยชน์แก่เจ้าของทุนหรือเฉพาะผู้ถือหุ้นของกิจการ มาสู่การให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง ภายใต้กระแสที่เรียกว่า “Stakeholder Capitalism” หรือ วิถีทุนนิยมที่เอื้อต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มในระบบเศรษฐกิจ ทั้งกลุ่มพนักงาน ลูกค้า ผู้ส่งมอบ ชุมชนท้องถิ่น และสังคมโดยรวม ด้วยการผสานประโยชน์ที่แตกต่างของบรรดาผู้มีส่วนได้เสียให้ได้ดีที่สุด และให้เป็นไปในทิศทางที่เสริมความรุ่งเรืองของบริษัทในระยะยาว

ธุรกิจที่จะดำเนินการตามวิถีนี้ จะต้องมีการกำหนดสิ่งที่เรียกว่า “Corporate Purpose” หรือ ความมุ่งประสงค์ของกิจการ ซึ่งถือเป็นเจตจำนงที่องค์กรต้องแสดงให้สาธารณชนได้รับทราบว่า เหตุใดเราจึงยังคงอยู่ (Why do we exist?) หรือธุรกิจเราอยู่เพื่อทำสิ่งใดที่เป็นความมุ่งประสงค์หลัก ใช่การแสวงหากำไรสูงสุดหรือไม่ หรือเป็นการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับการสร้างคุณค่าร่วมให้แก่สังคม และคุณค่าที่กิจการจะส่งมอบมีความสอดคล้องกับสินทรัพย์และความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ในองค์กรมากน้อยเพียงใด

การกำหนดความมุ่งประสงค์ของกิจการ จำเป็นต้องสอดรับกับความเคลื่อนไหวของพัฒนาการด้านความยั่งยืนในระดับสังคม รวมถึงการตอบสนองต่อเป้าหมายโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ผ่านกระบวนการทางธุรกิจในรูปแบบ SDG-in-process โดยเฉพาะการดูแลจัดการผลกระทบที่กิจการส่งผ่านไปยังสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า “Corporate SDG Impact

องค์ประกอบในภาคความมุ่งประสงค์ ภาคปฏิบัติการ และภาคผลกระทบ โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องในทุกกลุ่ม สถาบันไทยพัฒน์ เรียกรวมว่าเป็น ภาวะผู้ประกอบความยั่งยืน หรือ Sustainpreneurship ที่กิจการต้องสร้างความเชื่อมโยงระหว่าง Purpose - Performance - Impact ตามลำดับ

หนังสือ “Corporate SDG Impact: From Purpose to Performance” จัดทำขึ้น โดยอ้างอิงกับเอกสารของสำนักงานการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด ที่ชื่อว่า Guidance on core indicators for entity reporting on contribution towards implementation of the Sustainable Development Goals สำหรับภาคธุรกิจในการใช้เป็นแนวทางเสริมสร้างภาวะผู้ประกอบความยั่งยืนให้เกิดขึ้นตามลำดับขั้น ด้วยการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อ SDGs ในรูปแบบ SDG-in-process

เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ จะช่วยให้องค์กรธุรกิจสามารถนำเสนอข้อมูลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องซึ่งมีความต้องการร่วมในวาระ SDG ด้วยตัวชี้วัดที่ผ่านการคัดเลือกให้เหมาะสมกับกิจการ และใช้เป็นเครื่องวัดการดำเนินงานในระดับกิจการ ให้ได้ข้อมูลที่มีความคล้องจองกับข้อมูลในระดับประเทศที่รัฐบาลจัดเก็บ เพื่อใช้แสดงถึงการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับตัวชี้วัด (Indicator-level SDGS) ได้อย่างเป็นระบบ

หน่วยงานที่สนใจหนังสือเล่มนี้ สามารถติดต่อขอรับได้ที่สถาบันไทยพัฒน์ โดยแจ้งความประสงค์ทางอีเมล info@thaipat.org พร้อมระบุจำนวนเล่มและที่อยู่ในการจัดส่ง ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

 


ดาวน์โหลดไฟล์หนังสือ
Corporate SDG Impact: From Purpose to Performance




งานแถลงทิศทาง CSR ปี 63

ปีก่อนหน้า   ปี60   ปี61   ปี62   ปี63   ปี64   ปี65   ปี66   ปี67



สถาบันไทยพัฒน์ จัดงานแถลง “ทิศทาง CSR ปี 2563: The Year of Sustainpreneurship” และการเสวนาเรื่อง Corporate SDG Impact: From Purpose to Performance ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน ถนนพระราม 1

กำหนดการ
ข่าวประชาสัมพันธ์
เอกสารในช่วงการนำเสนอทิศทาง CSR ปี 2563
เอกสารในช่วงเสวนา Corporate SDG Impact

ข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
6 ทิศทาง CSR ปี’63 สร้างภาวะผู้ประกอบความยั่งยืน (ประชาชาติธุรกิจ)
6 ทิศทาง CSR ปี 2563 (กรุงเทพธุรกิจ) (Smart SME) (SD Perspectives)
ไทยพัฒน์ แถลงทิศทาง CSR ปี 63.. (Marketeer Online)
ไทยพัฒน์ ส่องเทรนด์ CSR 2563.. (ผู้จัดการออนไลน์)

 


 


หนังสือ "Corporate SDG Impact: From Purpose to Performance" ความหนา 70 หน้า แนวทางการนำเสนอข้อมูลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ภายใต้บริบทของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และใช้เป็นเครื่องวัดการดำเนินงานในระดับกิจการ เพื่อให้ได้ข้อมูลในระดับตัวชี้วัด (Indicator-level SDGS) ที่มีความคล้องจองกับข้อมูล SDGs ที่รัฐบาลจัดเก็บในระดับประเทศ (รายละเอียด)





ไทยพัฒน์ แถลงทิศทาง CSR ปี 63

แนะธุรกิจใช้ SDG-in-process ตอบโจทย์ความยั่งยืนโลก


สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศแนวโน้ม CSR ปี 63 ใน 6 ทิศทางสำคัญ พร้อมแนะภาคธุรกิจนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) มาผนวกเข้ากับกระบวนการทางธุรกิจ ในรูปแบบ SDG-in-process เพื่อส่งมอบคุณค่าให้แก่ธุรกิจและผลกระทบที่ดีต่อโลกไปพร้อมกัน


ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ ได้กล่าวในงานแถลงทิศทาง CSR ปี 2563 ที่จัดขึ้นวันนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2563) ว่า “การขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนของภาคธุรกิจในปีนี้ จะเกี่ยวข้องกับ 3 คำสำคัญ คือ การให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง ภายใต้กระแสที่เรียกว่า Stakeholder Capitalism หรือ วิถีทุนนิยมที่เอื้อต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งธุรกิจที่จะดำเนินการตามวิถีนี้ จะต้องมีการกำหนดสิ่งที่เรียกว่า Corporate Purpose หรือ ความมุ่งประสงค์ของกิจการ ที่จำต้องสอดรับกับพัฒนาการด้านความยั่งยืนในระดับสังคม รวมถึงการตอบสนองต่อ SDGs โดยเฉพาะผลกระทบของกิจการที่มีต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Corporate SDG Impact

องค์ประกอบในภาคความมุ่งประสงค์ (Purpose) ภาคปฏิบัติการ (Performance) ที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องในทุกกลุ่ม และภาคผลกระทบ (Impact) ที่มีต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สถาบันไทยพัฒน์ เรียกรวมว่าเป็น ภาวะผู้ประกอบความยั่งยืน หรือ Sustainpreneurship ที่กิจการต้องสร้างความเชื่อมโยงให้เกิดขึ้นระหว่าง Purpose – Performance – Impact ด้วยการดำเนินงานในรูปแบบ SDG-in-process โดยผนวกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้ากับกระบวนการทางธุรกิจ และส่งมอบคุณค่าให้แก่ธุรกิจและผลกระทบที่ดีต่อโลกไปพร้อมกัน

ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการประเมินทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ภายใต้รายงานที่มีชื่อว่า 6 ทิศทาง CSR ปี 2563: The Year of Sustainpreneurship เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับหน่วยงานและองค์กรธุรกิจในการใช้เป็นแนวทางเสริมสร้างภาวะผู้ประกอบความยั่งยืนให้เกิดขึ้น ในอันที่จะส่งมอบคุณค่าร่วมแก่ผู้มีส่วนได้เสียทั้งผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า ผู้ส่งมอบ ชุมชนท้องถิ่น และสังคมโดยรวม

ในงานแถลงทิศทาง CSR ปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ยังได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง 'Corporate SDG Impact: From Purpose to Performance' เพื่อแนะนำแนวทางสำหรับภาคธุรกิจในการตอบสนองต่อ SDGs ด้วยชุดตัวชี้วัดหลักในกระบวนการธุรกิจ 1 และเครื่องมือ SDG Business Model Canvas สำหรับใช้เสริมสร้างภาวะผู้ประกอบความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในกิจการ ด้วยการดำเนินงานในรูปแบบ SDG-in-process


นายวรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า “นับตั้งแต่ที่ SDGs ประกาศใช้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว องค์กรธุรกิจที่มีการตอบสนองต่อ SDGs โดยส่วนใหญ่ แสดงความเชื่อมโยงของการดำเนินการไปที่ระดับเป้าประสงค์ (Goal-level) 17 ข้อ และมีกิจการอีกบางส่วนที่แสดงความเชื่อมโยงไปได้ถึงระดับเป้าหมาย (Target-level) แต่ด้วยเครื่องมือ SDG Business Model Canvas ที่สถาบันไทยพัฒน์พัฒนาขึ้น จะเป็นครั้งแรกที่ภาคธุรกิจ สามารถแสดงความเชื่อมโยงของการดำเนินงานไปถึงระดับตัวชี้วัด (Indicator-level) ได้อย่างเป็นทางการ ตามแนวทางที่องค์การภายใต้สหประชาชาติให้ความเห็นชอบ 2 และแนะนำให้ใช้เป็นข้อมูลแสดงความก้าวหน้าของการดำเนินงาน ภายใต้เป้าหมายที่ 12.6 ตั้งแต่นี้ไป จนครบวาระของ SDGs ในปี ค.ศ.2030

นายฌานสิทธิ์ ยอดพฤติการณ์ วิทยากรสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวเสริมว่า “เครื่องมือ SDG Business Model Canvas ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่าง Purpose – Performance – Impact ที่นำไปสู่การพัฒนาภาวะผู้ประกอบความยั่งยืน (Sustainpreneurship) ของกิจการ และชุดตัวชี้วัดหลักจำนวน 15 รายการ (33 ตัวชี้วัด) สำหรับใช้เป็นจุดตั้งต้นหรือจุดนำเข้าที่แสดงถึงการมีส่วนในการตอบสนองต่อ SDGs และเป็นตัวชี้วัดที่กิจการจำเป็นต้องใช้ในการประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล ซึ่งหาพบได้ในรายงานของกิจการ และในกรอบการรายงานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ในการเสวนาครั้งนี้ ยังได้มีการแนะนำหนังสือ “Corporate SDG Impact: From Purpose to Performance” ที่สถาบันไทยพัฒน์ จัดทำขึ้นเพื่อช่วยให้องค์กรธุรกิจสามารถนำเสนอข้อมูลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ภายใต้บริบทของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และใช้เป็นเครื่องวัดการดำเนินงานในระดับกิจการ เพื่อให้ได้ข้อมูลในระดับตัวชี้วัด (Indicator-level SDGs) ที่มีความคล้องจองกับข้อมูล SDGs ที่รัฐบาลจัดเก็บในระดับประเทศ

ผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับหนังสือ Corporate SDG Impact: From Purpose to Performance ได้ที่สถาบันไทยพัฒน์ (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ www.thaipat.org



--------------------------------------
1 อ้างอิงจากเอกสาร Guidance on core indicators for entity reporting on contribution towards implementation of the Sustainable Development Goals ที่จัดทำขึ้นโดยสำนักงานการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด).
2 โดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (ISAR) ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) ซึ่งมีสำนักงานการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการ.




สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
สถาบันไทยพัฒน์ ปิยเลขา ไหล่แท้ โทร 0-2930-5227



กำหนดการแถลง "ทิศทาง CSR ปี 2563"


กำหนดการแถลง
ทิศทาง CSR ปี 2563: The Year of Sustainpreneurship
และการเสวนาเรื่อง
Corporate SDG Impact: From Purpose to Performance
โดย สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 เวลา 13.00 - 16.00 น.
ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปกรุงเทพฯ สี่แยกปทุมวัน ถ.พระราม 1

13.00-13.30 น.ลงทะเบียน
13.30-14.15 น.กล่าวต้อนรับ
และแถลงถึงทิศทาง CSR ประจำปี 2563 โดย
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
ประธาน สถาบันไทยพัฒน์
14.15-14.30 น.พักรับประทานอาหารว่าง
14.30-15.30 น.การเสวนาเรื่อง
Corporate SDG Impact: From Purpose to Performance โดย
คุณวรณัฐ เพียรธรรม
ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์
คุณฌานสิทธิ์ ยอดพฤติการณ์
วิทยากร สถาบันไทยพัฒน์
ดำเนินการเสวนา โดย
คุณโมไนย เย็นบุตร
15.30-16.00 น.ถาม-ตอบ และอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
16.00 น.จบงาน


* หมายเหตุ: กำหนดการและวิทยากรอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม



รายงาน "6 ทิศทาง CSR ปี 2563"


ปี ค.ศ.2020 ที่เริ่มต้นขึ้น ถือเป็นปีแรกเริ่มของทศวรรษ 2020 ที่โลกต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และส่งผลกระทบไปยังทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในภาคเอกชน การบริหารกิจการให้อยู่รอดปลอดภัย สามารถคงธุรกิจที่มีอยู่ให้ดำเนินต่อไปได้ ในสภาวการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยที่ยังไม่ต้องพูดถึงการเติบโตให้ได้อย่างต่อเนื่อง ก็นับว่ายากแล้ว ทำให้กระแสเรื่องความยั่งยืนยิ่งเป็นวาระที่องค์กรในภาคธุรกิจ จำเป็นต้องศึกษาแนวโน้มที่เกิดขึ้นซึ่งมีความเป็นพลวัตสูง และประยุกต์เอาแนวทางที่สอดคล้องกับบริบททางธุรกิจของตน มาใช้ในการบริหารความยั่งยืนให้แก่กิจการ ซึ่งถือเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจได้ไปต่อในทศวรรษ 2020 ที่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

แนวโน้มที่เกิดขึ้นในปี 2563 ค่อนข้างชัดว่า การให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง เป็นกระแสหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงในธีม “Stakeholder Capitalism” หรือ ทุนนิยมที่เอื้อต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มในระบบเศรษฐกิจ แทนที่จะสนองประโยชน์แก่เจ้าของทุนหรือเฉพาะผู้ถือหุ้นของกิจการอย่างที่ปฏิบัติกันมา

ภายใต้ธีมนี้ กิจการควรที่จะสามารถสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ในอันที่จะสร้างให้เกิดคุณค่าร่วมและยั่งยืน ไม่เพียงแต่การสร้างคุณค่าให้แก่ผู้ถือหุ้น แต่รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งกลุ่มพนักงาน ลูกค้า ผู้ส่งมอบ ชุมชนท้องถิ่น และสังคมโดยรวม สามารถผสานประโยชน์ที่แตกต่างของบรรดาผู้มีส่วนได้เสียให้ได้ดีที่สุด และในทิศทางที่เสริมความรุ่งเรืองของบริษัทในระยะยาว

ทั้งนี้ กิจการพึงระลึกว่า องค์กรของตนเป็นมากกว่าหน่วยเศรษฐกิจที่สร้างความมั่งคั่ง แต่ต้องสามารถคงบทบาทในการมีส่วนเติมเต็มความปรารถนาทางสังคมและผู้คนในระบบสังคมวงกว้าง ทั้งนี้ ผลประกอบการต้องถูกวัดโดยไม่จำกัดเพียงผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น แต่ต้องครอบคลุมถึงการบรรลุวัตถุประสงค์ทางสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG)

สอดรับกับธีมที่เกิดขึ้นในระดับองค์กร ที่เน้นคำว่า “Purpose” หรือ ความมุ่งประสงค์ที่องค์กรต้องคำนึงถึงเป็นพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจจากนี้ไป ถือเป็นเจตจำนงที่ต้องแสดงให้สาธารณชนได้รับทราบว่า เหตุใดเราจึงยังคงอยู่ (Why do we exist?) หรือธุรกิจเราอยู่เพื่อทำสิ่งใดที่เป็นความมุ่งประสงค์หลัก ใช่การแสวงหากำไรสูงสุดหรือไม่ หรือเป็นการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับการสร้างคุณค่าร่วมให้แก่สังคม และคุณค่าที่กิจการจะส่งมอบมีความสอดคล้องกับสินทรัพย์และความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ในองค์กรมากน้อยเพียงใด

ขณะที่ ความเคลื่อนไหวของพัฒนาการด้านความยั่งยืนในระดับสังคม ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องผลกระทบที่กิจการส่งผ่านสู่สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปีนี้ ถือเป็นปีเริ่มต้นของทศวรรษ 2020 ที่จะไปสิ้นสุดในปี ค.ศ.2030 องค์กรหลายแห่งจะถือโอกาสนำเอาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) มาตอบโจทย์ที่เป็นผลกระทบจากการขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืน โดยจะไปบรรจบครบวาระของ SDGs ในปี ค.ศ.2030 (ระยะ 10 ปี) ทำให้ธีมเรื่อง “SDG Impact” จะได้ฤกษ์ก่อตัวขึ้นในปี ค.ศ.2020 นี้

สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการประเมินทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการ ประจำปี 2563 ภายใต้รายงานที่มีชื่อว่า 6 ทิศทาง CSR ปี 2563: The Year of Sustainpreneurship เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับหน่วยงานและองค์กรธุรกิจ ในการใช้เป็นแนวทางเสริมสร้างภาวะผู้ประกอบความยั่งยืนให้เกิดขึ้น ในอันที่จะส่งมอบคุณค่าร่วมแก่ผู้มีส่วนได้เสียทั้งผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า ผู้ส่งมอบ ชุมชนท้องถิ่น และสังคมโดยรวม

รายงาน 6 ทิศทาง CSR ปี 2563: The Year of Sustainpreneurship มีความหนา 24 หน้า ในเล่มประกอบด้วย

- สารจากประธาน
- สารจากผู้อำนวยการ
- 2020: ปีแห่งการเป็นผู้ประกอบความยั่งยืน
- 6 ทิศทาง CSR ปี 2563
- สถาบันไทยพัฒน์กับงานด้านบรรษัทบริบาล

 


ดาวน์โหลดรายงาน
6 ทิศทาง CSR ปี 2563: The Year of Sustainpreneurship






สถาบันไทยพัฒน์กับงานด้านบรรษัทบริบาล


สถาบันไทยพัฒน์ เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2542 มุ่งเน้นงานด้านการส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ และการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ ด้วยการวิจัย (Research) การฝึกอบรม (Training) และการให้คำปรึกษา (Consulting) แก่ภาคเอกชน ภายใต้บริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน

สถาบันไทยพัฒน์ ได้เข้าร่วมลงนามเป็นภาคีและรับรองหลักการลงทุนที่รับผิดชอบในการสนับสนุนของสหประชาชาติ (United Nations-supported Principles for Responsible Investment: PRI) เป็นองค์กรแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2559 ปัจจุบัน PRI เป็นเครือข่ายสากลระดับแนวหน้าของกลุ่มผู้ลงทุนที่ให้คำมั่นในการผนวกการพิจารณาประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ในนโยบายการลงทุนและการครอบครองกรรมสิทธิ์

ในปี พ.ศ.2559 สถาบันไทยพัฒน์ ได้เข้าเป็นองค์กรสมาชิกของเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในสังกัดสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Solutions Network: UNSDSN) และพัฒนาความริเริ่มที่เน้นการลงมือปฏิบัติ (Action-oriented) เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยมีการปรับแนวการดำเนินงานทางธุรกิจ ในทิศทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีส่วนในการตอบโจทย์การแก้ปัญหาที่ระบุในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

นอกจากนี้ ในปี พ.ศ.2563 สถาบันไทยพัฒน์ ยังได้เข้าเป็นสมาชิกภาคองค์กร ในชุมชนนักปฏิบัติ หรือ Practitioner Community ภายใต้กลุ่ม Impact Management Project (IMP) ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยองค์กรจัดทำมาตรฐานชั้นนำ 12 แห่ง (อาทิ UNDP, OECD, GRI) เมื่อปี ค.ศ.2016 และพัฒนาเครื่องมือที่ชื่อว่า Impact Management เพื่อเสนอแนะให้องค์กรได้มีวิธีวัดและบริหารผลกระทบอย่างรอบด้านและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ปัจจุบันมี 2,000 กว่าองค์กรที่ได้เข้าร่วมเครือข่าย IMP


 





สารจากผู้อำนวยการ


"การปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ ให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง" เป็นแนวคิดพื้นฐานหนึ่งที่สำคัญต่อการบริหารจัดการธุรกิจในปี พ.ศ.2563 ให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทาย เช่น เศรษฐกิจชะลอตัวอันเกิดจากสงครามทางการค้า (Trade War) ปัญหาสภาพแวดล้อมทั้งการแพร่กระจายของฝุ่นขนาดเล็ก (PM2.5) และวิกฤตอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง อันนำไปสู่ปัญหาภัยแล้ง ตลอดจนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) ในประเทศต่าง ๆ

จากสภาพการณ์ที่กล่าวมา ได้นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และส่งผลกระทบต่อองค์กรธุรกิจต่าง ๆ อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ และยังเป็นความท้าทายต่อความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งความคาดหวังจากผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ ต่อการดำเนินงานของภาคเอกชนก็เพิ่มขึ้นจากเดิม สะท้อนให้เห็นด้วยเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในแวดวงธุรกิจกับการพัฒนาสู่ความยั่งยืน เช่น การลงนามของสมาชิกสมาคม Business Roundtable ในสหรัฐอเมริกา ที่มีคำแถลงแห่งความมุ่งประสงค์ของกิจการ จากการปรับเปลี่ยนจุดยืนเพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นไปสู่ผู้มีส่วนได้เสีย หรือการออกคำประกาศเจตนาดาโวส 2020: ความมุ่งหมายสากลของบริษัทในยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ โดยมุ่งหมายที่จะสานสัมพันธ์ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ในอันที่จะสร้างให้เกิดคุณค่าร่วมและยั่งยืน เป็นต้น

ปี 2563 ถือว่าเป็นปีที่บรรดาองค์กรธุรกิจ จำเป็นต้องทบทวนบทบาทการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องต่อผลกระทบในวงผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ ทั้งภายในองค์กรและในห่วงโซ่คุณค่าของกิจการ อีกทั้งยังเป็นปีที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้เดินทางมาแล้วหนึ่งในสามของระยะเวลาที่จะต้องบรรลุเป้าหมายดังกล่าวในปี ค.ศ.2030 โดยมีระยะเวลาเหลืออีก 10 ปี จึงเป็นเรื่องที่ภาคเอกชนต้องตื่นตัว ทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnership for Sustainable Development) เพื่อส่งมอบคุณค่าแก่กิจการและผู้มีส่วนได้เสีย ในทิศทางที่เอื้อต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามกรอบเวลาที่กำหนดร่วมกัน

กระผมหวังว่า หนังสือ 6 ทิศทาง CSR ปี 2563: The Year of Sustainpreneurship ฉบับนี้ จะเป็นข้อมูลนำเข้าที่สำคัญสำหรับเตรียมความพร้อมของกิจการ ในการขับเคลื่อนบทบาทที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ และสำหรับกำหนดทิศทางการดำเนินงานขององค์กรให้สอดรับกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลง อันนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการเสริมสร้างภาวะผู้ประกอบความยั่งยืน (Sustainpreneurship) ของกิจการได้ในที่สุด




 
 (วรณัฐ เพียรธรรม)
ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์
25 กุมภาพันธ์ 2563



สารจากประธาน


ในรอบปี 2562 ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์สำคัญๆ ในแวดวงธุรกิจกับการพัฒนาสู่ความยั่งยืน ที่ควรหยิบยกมากล่าวถึงอยู่ 4 เหตุการณ์ เริ่มจากการลงนามให้คำมั่นของ 181 ซีอีโอที่เป็นสมาชิกของสมาคม Business Roundtable ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1972 ในคำแถลงแห่งความมุ่งประสงค์ของกิจการ (Statement on the Purpose of a Corporation) ที่ปรับเปลี่ยนจุดยืนจากการดำเนินกิจการที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้น (Shareholders) เป็นหลักมาอย่างยาวนาน มาเป็นการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ทั้งหมด

เหตุการณ์ต่อมา ที่มีความคล้ายคลึงกัน คือ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ได้ออกคำประกาศเจตนาดาโวส 2020: ความมุ่งหมายสากลของบริษัทในยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ (Davos Manifesto 2020: The Universal Purpose of a Company in the Fourth Industrial Revolution) โดยมุ่งหมายที่จะสานสัมพันธ์ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ในอันที่จะสร้างให้เกิดคุณค่าร่วมและยั่งยืน ไม่เพียงแต่การสร้างคุณค่าให้แก่ผู้ถือหุ้น แต่รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งกลุ่มพนักงาน ลูกค้า ผู้ส่งมอบ ชุมชนท้องถิ่น และสังคมโดยรวม

อีกเหตุการณ์หนึ่ง ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือ การก่อตั้งเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network: TRBN) ที่ริเริ่มขึ้นโดยสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และองค์กรร่วมก่อตั้งอีก 9 แห่ง ภายใต้วิสัยทัศน์ที่จะขับเคลื่อนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และบริษัทเอกชนทั่วไปสู่การดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

ส่วนเหตุการณ์ที่สี่ คือ การก่อตั้งประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน (Sustainability Disclosure Community: SDC) ที่สถาบันไทยพัฒน์เป็นผู้ริเริ่ม เพื่อใช้เป็นแพลตฟอร์มในการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจที่เป็นสมาชิกของ SDC ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงาน ซึ่งครอบคลุมทั้งการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หรือประเด็นด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) อันจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ และการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 12.6 ร่วมกัน ซึ่งในปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 105 องค์กร

ทั้งนี้ จากฐานข้อมูล GRI Sustainability Disclosure Database (SDD) ซึ่งเป็นแหล่งรวมข้อมูลรายงานแห่งความยั่งยืนของกิจการทั่วโลก ประเทศไทยมีตัวเลขการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่อ้างอิงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มากเป็นอันดับ 5 ของโลก ขณะที่การเปิดเผยข้อมูลในรูปของรายงานด้านความยั่งยืนที่จัดทำตามแนวทาง GRI ของไทย มีตัวเลขอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก

สำหรับในปี 2563 แนวโน้มความเคลื่อนไหวของภาคธุรกิจที่มีต่อการพัฒนาสู่ความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับประโยชน์และความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย ยังคงเป็นทิศทางหลักแห่งการขับเคลื่อน และถือเป็น “ปีแห่งการเป็นผู้ประกอบความยั่งยืน” หรือ “Year of Sustainpreneurship” ที่องค์กรธุรกิจจะต้องสร้างภาวะผู้ประกอบความยั่งยืนที่เอื้อต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง

สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการประเมินทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการ ประจำปี 2563 ภายใต้รายงานที่มีชื่อว่า 6 ทิศทาง CSR ปี 2563: The Year of Sustainpreneurship เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับหน่วยงานและองค์กรธุรกิจ ในการใช้เป็นแนวทางเสริมสร้างภาวะผู้ประกอบความยั่งยืนให้เกิดขึ้น ในอันที่จะส่งมอบคุณค่าร่วมแก่ผู้มีส่วนได้เสียทั้งผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า ผู้ส่งมอบ ชุมชนท้องถิ่น และสังคมโดยรวม


 
 (พิพัฒน์ ยอดพฤติการ)
ประธานสถาบันไทยพัฒน์
25 กุมภาพันธ์ 2563



ธุรกิจในโหมดตั้งรับและปรับตัว


ขึ้นต้นปี ค.ศ.2020 ผ่านมาเพียงเดือนครึ่ง โลกดูเหมือนจะมีแต่ความท้าทายใหม่ๆ ที่ไม่มีใครสามารถคาดคิดไว้ล่วงหน้า อาทิ การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ Covid-19 ที่ยังไม่ได้มีทีท่าว่าจะลดลง หรืออยู่ในความควบคุมได้

อุบัติการณ์นี้ เรื่องเดียว ส่งผลกระทบไม่เพียงแต่สุขภาพของผู้คน แต่ลามไปถึงเรื่องเศรษฐกิจ เกิดความชะงักงันในหลายสาขาอุตสาหกรรม การเลื่อนการส่งมอบ การชะลอคำสั่งซื้อ การยกเลิกการเดินทางฯลฯ ล้วนทำให้ปริมาณกิจกรรมทางธุรกิจลดลง รายได้หด ต้นทุนคงที่ยังอยู่เหมือนเดิม ซึ่งหากไม่ทำอะไร ตัวเลขกำไร อาจไม่มีเหลือ

ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่รายย่อย ในช่วงนี้ จำเป็นต้องประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นช่วงสถานการณ์ หันมาทบทวนจุดอ่อน-จุดแข็ง-จุดเสี่ยง เพื่อการปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ข้อเสนอแนะหนึ่ง ที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปปฏิบัติได้ คือ การสำรวจและปรับแต่งปัจจัย (Factor)ในธุรกิจ ให้สอดคล้องกับความเป็นไปของตลาด รวมทั้งความต้องการของผู้บริโภคและลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของกิจการ ใน 3 จุดหลัก ได้แก่ จุดขาย-จุดคุ้ม-จุดซื้อ

ปัจจัยเรื่อง จุดขาย เกี่ยวข้องกับ “คุณภาพ” ของผลิตภัณฑ์ (ทั้งสินค้าและบริการ) ที่ผู้ประกอบการในฐานะที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ ต้องทำให้มีขึ้นในทางใดทางหนึ่ง ถือเป็นปัจจัยขั้นต้นของความสำเร็จ ตั้งแต่การได้มาตรฐานขั้นต่ำ หรือผ่านหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต ซึ่งเป็นข้อกําหนดขั้นพื้นฐานที่จําเป็นในการผลิตและควบคุมเพื่อให้ผู้ผลิตปฏิบัติตาม และทําให้สามารถผลิตได้อย่างปลอดภัย โดยเน้นการป้องกันและขจัดความเสี่ยงที่อาจจะทําให้เป็นอันตรายหรือเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค สำหรับผู้ประกอบการที่เก่งและมีความพร้อม จะมีการพัฒนาคุณภาพหรือรับเอามาตรฐานในขั้นที่สูงขึ้นมาดำเนินการ เพื่อสร้างให้เกิดความโดดเด่นในตัวผลิตภัณฑ์เหนือคู่แข่งขันเพิ่มเติม เป็นปัจจัยความสำเร็จที่เน้นเรื่องผลิตภัณฑ์ (Product-focus)

ปัจจัยเรื่อง จุดคุ้ม เกี่ยวข้องกับ “ผลิตภาพ” ในกระบวนการ ที่ผู้ประกอบการในฐานะที่เป็นเจ้าของกระบวนการ ต้องพัฒนาให้เกิดขึ้น ถือเป็นปัจจัยขั้นกลางที่จะทำให้ทุกๆ การขายมีกำไรเหลือ เพราะต้นทุนไม่บานปลาย มีการลดของเสียจากการผลิต ลดการสูญเสียในกระบวนการ ลดเวลาและขั้นตอนการผลิตและการให้บริการ การบริหารสินค้าคงคลัง และการรักษาเวลาในการส่งมอบ เป็นต้น สำหรับผู้ประกอบการที่เก่งและมีความพร้อม จะมีการยกระดับผลิตภาพด้วยการปฏิบัติตามมาตรฐานที่เป็นสากล อาทิ มาตรฐานไอเอสโอ เพื่อสร้างให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในกระบวนการผลิตและการให้บริการที่สูงขึ้น เป็นปัจจัยความสำเร็จที่เน้นเรื่องกระบวนการ (Process-focus)

ปัจจัยเรื่อง จุดซื้อ เกี่ยวข้องกับ “ตราสินค้าและเรื่องราว” ที่องค์กรนำเสนอ ผู้ประกอบการในฐานะที่เป็นเจ้าของตราสินค้า (Brand) ต้องมีเรื่องราวหรือภูมิหลังที่สร้างให้เกิดคุณค่าเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญในสายตาของผู้ซื้อ ถือเป็นปัจจัยขั้นปลายที่จะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเป็นลูกค้า และซื้อหาในราคาที่ตนเองพึงพอใจกับตราสินค้าและเรื่องราวที่องค์กรนำเสนอ ซึ่งได้ราคาดีและมีส่วนต่างสูง (High Margin) กว่าผู้ประกอบการที่ไม่ได้เน้นเรื่องตราสินค้าและขาดเรื่องราวในการนำเสนอ สำหรับผู้ประกอบการที่เก่งและมีความพร้อม จะมีการสร้างความแข็งแกร่งในตราสินค้าด้วยการใช้องค์ประกอบด้านการออกแบบและนวัตกรรมเพิ่มเติม เพื่อสร้างให้เกิดความแตกต่างจากตราสินค้าของคู่แข่ง และไปเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของกิจการ เป็นปัจจัยความสำเร็จที่เน้นเรื่องการรับรู้ของลูกค้า (Customer-focus)

อย่างน้อย เวลาที่ว่างในช่วงที่กิจกรรมทางธุรกิจชะลอตัว ผู้ประกอบการควรตื่นตัวหันมาสำรวจและปรับแต่งปัจจัยที่เป็นจุดขาย-จุดคุ้ม-จุดซื้อ ข้างต้น เพื่อตั้งรับและปรับตัวให้สามารถอยู่รอดพ้นจากสถานการณ์ รอจังหวะในการพลิกกลับมาเติบโตและขยายตลาด หลังจากที่เศรษฐกิจเคลื่อนไหวคืนสู่สภาวการณ์ปกติอีกครั้ง


[Original Link]



IMP Practitioner Community


ในปี พ.ศ.2563 สถาบันไทยพัฒน์ ได้เข้าเป็นสมาชิกภาคองค์กร ในชุมชนนักปฏิบัติ หรือ Practitioner Community ภายใต้กลุ่ม Impact Management Project (IMP) ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยองค์กรจัดทำมาตรฐานชั้นนำ 12 แห่ง (อาทิ UNDP, OECD, GRI) เมื่อปี ค.ศ.2016 และพัฒนาเครื่องมือที่ชื่อว่า Impact Management เพื่อเสนอแนะให้องค์กรได้มีวิธีวัดและบริหารผลกระทบอย่างรอบด้านและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยมี 3,000 กว่าองค์กรที่ได้เข้าร่วมเครือข่าย IMP

ปัจจุบัน Impact Frontiers ได้รับช่วงต่อจาก IMP นับตั้งแต่ปี 2565 ในการทำหน้าที่เป็น Hub สำหรับผู้ลงทุนได้เรียนรู้แนวคิดเรื่องผลกระทบ (อาทิ 5 มิติของผลกระทบ และ 4 กลยุทธ์สนับสนุนของผู้ลงทุน) รวมทั้งการให้ตัวอย่างแนวทางของผู้ลงทุนที่ผนวกบรรทัดฐานดังกล่าวร่วมกับผลตอบแทนและความเสี่ยงทางการเงินในการลงทุน ตลอดจนการเป็นแหล่งเสาะหาโอกาสสานสัมพันธ์ในหมู่เพื่อนร่วมอาชีพ และสนับสนุนช่วยเหลือพัฒนาบรรทัดฐานในพื้นที่ปฏิบัติการที่ซึ่งมาตรฐานและข้อชี้แนะต่าง ๆ ยังไม่ปรากฏ




วาระใหม่แห่งความยั่งยืน


แนวคิด Social Business ที่ ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส เป็นผู้ริเริ่มขึ้น บนพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม ด้วยวิถีทางที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ มิใช่เรื่องใหม่ในแวดวงของการประกอบการเพื่อสังคม

ธุรกิจเพื่อสังคม ตามนิยามของยูนุส ประเภทแรก เป็นการดำเนินธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาสังคมโดยบุคคลหรือนิติบุคคลทั่วไป ที่ไม่มีการปันผลกำไรคืนกลับแก่ผู้ถือหุ้น (กำไรทั้งหมดที่ได้ จะนำมาพัฒนาและขยายธุรกิจต่อ) ประเภทที่สอง เป็นการดำเนินธุรกิจโดยผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสที่มีการปันผลกำไร โดยการปันผลกำไรนั้น ถือเป็นการขจัดความยากจน เป็นการแก้ไขปัญหาสังคม สมตามจุดมุ่งหมายของธุรกิจเพื่อสังคมในตัวเอง


ในระยะหลัง แนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม ได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจเอกชน และได้มีการนำมาขับเคลื่อนโดยองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในประเทศไทย ยูนุส ได้เข้ามาผลักดันให้หน่วยงานทั้งในภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคการศึกษาที่มีความสนใจในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคม ก่อตั้งเป็นองค์กร ยูนุส ประเทศไทย (Yunus Thailand) ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการเผยแพร่แนวคิดและผลักดันแนวทางดังกล่าวให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ความริเริ่มหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2563 นี้ จะเป็นการนำเอาแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม มาขับเคลื่อนโดยภาคองค์กรที่เป็นกิจการขนาดใหญ่ ภายใต้รูปแบบที่เรียกว่า “Corporate Social Business” โดยมุ่งเน้นการใช้แกนหลักของธุรกิจ (Core Business) มาดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการช่วยเหลือ หรือใช้แก้ปัญหาสังคมในประเด็นที่อยู่ในความสนใจขององค์กร

แนวคิดนี้ ดัดแปลงมาจากความริเริ่ม Corporate Action Tank ที่ยูนุส ริเริ่มในประเทศฝรั่งเศส อินเดีย และบราซิล ก่อนหน้านี้

ตัวอย่างของการใช้ Core Business ที่ บริษัท เรโนลต์ (Renault) ใช้ดำเนินการตามแนวคิด Social Business ได้แก่ ธุรกิจเพื่อสังคม เรโนลต์ โมบิลิซ (Renault Mobiliz) ที่ร่วมกับอู่ซ่อมรถในเครือข่ายให้บริการแก่ลูกค้าที่มีรายได้น้อยที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ ซึ่งมีความจำเป็นต้องอาศัยพาหนะ (ไม่จำกัดยี่ห้อ) ในการประกอบอาชีพ ในอัตราค่าบริการที่มีส่วนลด 30% - 50% ด้วยคุณภาพเดียวกับการซ่อมบำรุงปกติ โดยคิดค่าอะไหล่และค่าแรงในราคาทุน

บริการ เรโนลต์ โมบิลิซ ในประเทศฝรั่งเศส เริ่มในปี ค.ศ.2012 โดยทำงานร่วมกับองค์กรภาครัฐ (อาทิ Pôle Emploi) และภาคประชาสังคม (Restaurants du Cœur, ADIE ฯลฯ) ในการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับบริการจากอู่ซ่อมรถในเขตพื้นที่ใกล้ผู้รับบริการ ปัจจุบัน มีอู่ซ่อมรถที่สมัครเข้าร่วมโครงการ 360 แห่ง และมีเป้าหมายที่จะขยายให้ได้ 500 แห่ง เพื่อให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายจำนวน 10,000 ราย ภายในปี ค.ศ.2020

รูปแบบ Corporate Social Business เป็นมากกว่ากิจกรรมเพื่อสังคม (CSR-after-process) และมีความยั่งยืนในตัวเอง เนื่องจากไม่ใช่รูปแบบของการบริจาคหรือให้ความช่วยเหลือในแบบให้เปล่า แต่เป็นการทำธุรกิจที่เลี้ยงตัวเองได้ โดยมีความมุ่งประสงค์ทางสังคม (Social Purpose) เป็นตัวตั้ง ก่อให้เกิดเป็นความยั่งยืนในกระบวนการสืบเนื่องต่อไป (Going Concern) เมื่อเทียบกับการบริจาคที่มีวันสิ้นสุดหรือต้องมีการยุติกิจกรรมในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า

ด้วยรูปแบบนี้ องค์กรไม่มีความจำเป็นต้องจัดตั้งกิจการขึ้นมาแต่ต้นเพื่อดำเนินการ โดยที่โมเดลธุรกิจยังไม่มีความชัดเจนหรือยังไม่แน่ใจว่าจะสำเร็จหรือไม่ ครั้นเมื่อแน่ใจแล้วว่า โมเดลธุรกิจเพื่อสังคมนั้นไปต่อได้ การพิจารณาว่าจะจัดตั้งเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมรองรับหรือไม่ จะเกิดขึ้นภายหลัง ทำให้ความเสี่ยงที่กิจการซึ่งตั้งขึ้นใหม่จะไม่ประสบความสำเร็จลดลง

การขับเคลื่อน Corporate Social Business จึงเป็นการย้ายจุดเน้นจากการสร้าง ‘กิจการ’ (Enterprise) เพื่อแก้ไขปัญหาสังคม มาสู่การสร้าง ‘ธุรกิจ’ (Business) เพื่อสังคม ที่พิสูจน์ในระดับหนึ่งแล้วว่า มีศักยภาพที่จะเติบโตหรือสามารถพัฒนาในระดับที่จะสร้างกิจการขึ้นมารองรับต่อไปได้

ในปี ค.ศ.2020 นี้ แนวคิดในการขับเคลื่อน Corporate Social Business จะเป็นวาระใหม่แห่งความยั่งยืน หรือ The New Sustainability Agenda ที่กิจการขนาดใหญ่ สามารถนำไปใช้ให้เกิดเป็นคุณค่าหรือผลได้ทางตรงแก่สังคมกลุ่มเป้าหมาย โดยมีคุณค่าหรืออานิสงส์ที่ย้อนกลับมาสู่ธุรกิจเป็นผลพลอยได้


[Original Link]