CSR ไม่ได้เริ่มที่บรรทัดสุดท้าย ของงบกำไรขาดทุน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ทุกองค์กรธุรกิจต้องการในปัจจุบัน นอกเหนือจากการเจริญเติบโต ก็คือ ความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งหมายถึง การที่องค์กรสามารถแสวงหากำไร หรือประกอบธุรกิจอยู่ได้ในสังคมอย่างต่อเนื่อง และ CSR (Corporate Social Responsibility) ได้กลายมาเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างให้เกิดความยั่งยืนนั้น
ปรัชญาของธุรกิจในการแสวงหากำไรสูงสุดที่กิจการยึดมั่นในการดำเนินงาน ไม่ได้เป็นเรื่องที่สวนทางกับหลักการความรับผิดชอบต่อสังคม เพียงแต่ธุรกิจที่มี CSR นั้น นอกจากจะพยายามแสวงหาหนทางในการทำกำไรสูงสุด (Maximize Profit) แล้ว ยังพยายามแสวงหาหนทางในการลดข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ให้เหลือน้อยที่สุด (Minimize Conflict) ด้วย นี่คือเหตุผลที่ CSR เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจนั่นเอง
โดยที่ขอบเขตการดำเนินงาน CSR จะครอบคลุมในทุกๆ กลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย ในอันที่จะสร้างให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียเหล่านั้น
แม้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ที่ดีกับพนักงาน คู่ค้า หรือชุมชน อาจจะไม่ส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มรายได้หรือกำไรของกิจการในทันที เหมือนกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ที่จะส่งผลโดยตรงต่อรายได้และเม็ดเงินที่ได้รับของกิจการเพิ่มขึ้น (ในทางบวก) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจเลือกที่จะละเลยการปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อพนักงาน คู่ค้า หรือชุมชน เพียงแต่ไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างทั่วถึง นี่จึงทำให้ธุรกิจมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดข้อพิพาทหรือขัดแย้งกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มดังกล่าว จนเป็นเหตุให้รายได้หรือกำไรของกิจการได้รับผลกระทบ (ในทางลบ) โดยตรง
สาเหตุสำคัญที่ CSR มักไม่ได้รับการตอบสนองจากเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นของกิจการ เกิดจากการมองว่า CSR เป็นกิจกรรมที่ทำให้ความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นลดลง เนื่องจากกิจการต้องเจียดกำไรหรือคืนผลตอบแทนส่วนหนึ่งกลับคืนสู่สังคม เพราะเข้าใจเรื่อง CSR ว่าเป็นการบริจาค (Philanthropy) และเป็นกิจกรรมที่ทำก็ต่อเมื่อมีกำไร คือ เกิดขึ้นหลังจากบรรทัดสุดท้าย (คือกำไรสุทธิ) ของการดำเนินงานเท่านั้น
อันที่จริงแล้วการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมสามารถเริ่มได้ตั้งแต่บรรทัดแรก (คือรายได้) ของการดำเนินงาน และนับตั้งแต่การพิจารณาเรื่องวัตถุดิบในการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การคำนึงถึงแหล่งวัตถุดิบในท้องถิ่น การจัดซื้อจัดหาที่มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ การปฏิบัติด้านแรงงานที่เป็นธรรม การให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ครบถ้วนถูกต้อง การขายและการตลาดที่ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค การให้บริการและการ
รับประกันที่เพียงพอ เป็นต้น การทำ CSR มุ่งที่การคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียที่ธุรกิจเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า พนักงาน ผู้ส่งมอบ คู่ค้า ฯลฯ นอกเหนือจากเรื่องชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากองค์กรดำเนินธุรกิจโดยที่ไม่มีข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทกับผู้มีส่วนได้เสียเหล่านี้ กิจการก็ย่อมจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ไม่มีปฏิปักษ์ สามารถแสวงหากำไรหรือประกอบธุรกิจอยู่ได้ในสังคมอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจนั่นเอง
ความเสียหายที่มีความชัดเจนและรุนแรง หากกิจการดำเนินไปโดยไม่คำนึงถึงเรื่อง CSR เช่น กรณีที่ธุรกิจไปมีข้อพิพาทกับผู้มีส่วนได้เสียที่เป็นภาครัฐในแง่ของใบอนุญาต สัมปทาน หรือการได้รับสิทธิพิเศษบางอย่าง ตลอดจนเรื่องการเสียภาษีต่างๆ จนเป็นปัญหานำไปสู่การฟ้องร้อง ให้ระงับการดำเนินงาน ยุติกิจการ หรือ ถูกยึดทรัพย์ ฯลฯ
การทำ CSR จึงมิได้เป็นเหตุที่ทำให้ความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นลดลง ตรงกันข้ามกลับจะทำให้ธุรกิจมีภูมิคุ้มกัน และเอื้อต่อการสร้างผลตอบแทนที่ต่อเนื่องและไร้มลทินให้แก่ผู้ถือหุ้น ไม่มีเหตุที่จะกล่าวโทษหรือมาตำหนิใดๆ ได้
ผู้ถือหุ้นที่ต้องการรักษาความมั่งคั่งในระยะยาว คงไม่ได้พิจารณาเลือกลงทุนในกิจการที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องถามหา CSR ในกิจการนั้นๆ เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหากับผู้มีส่วนได้เสียที่อยู่รายรอบกิจการ จนทำให้ธุรกิจสุ่มเสี่ยงต่อความอยู่รอดและการเจริญเติบโตในแบบยั่งยืน
[Original Link]