Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

Business Recovery Playbook

Home    In-process    After-process    Co-process    Cases    Download


บทบาทของภาคธุรกิจในช่วงการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19
(Business Recovery Playbook on COVID-19)


ในช่วงสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ปฏิเสธไม่ได้ว่า บทบาทของภาคธุรกิจ ในฐานะหนึ่งในภาคส่วนที่สำคัญของสังคม สามารถที่จะระดมทรัพยากรเพื่อใช้ในการช่วยเหลือ ทั้งการมอบเงินบริจาค อาหาร เวชภัณฑ์ และวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับมือกับสถานการณ์ ซึ่งมีมูลค่ารวมกันเป็นหลักพันล้านบาทได้ในชั่วระยะเวลาสั้นๆ

จากสถานการณ์ในสถานะ Response คือ ช่วงการรับมือหรือเผชิญกับการแพร่ระบาดจากจุดสูงสุด ได้พัฒนามาสู่จุดที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย จนปลอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ เข้าสู่สถานะ Recovery คือ ช่วงการฟื้นสภาพการดำเนินงานให้กลับเข้าสู่ระดับที่เป็นปกติหรือใกล้เคียงกับภาวะปกติ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีระยะเวลาสำหรับการฟื้นฟูหลังสถานการณ์คลี่คลาย ประมาณหนึ่งปี

ในภาคธุรกิจ องค์กรส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ จะมีบทบาทในช่วงการฟื้นฟูที่แตกต่างกันตามลักษณะและขนาดของกิจการ โดยกิจกรรมภายใต้ระยะการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 สามารถจำแนกออกได้เป็น 3 รูปแบบ ได้แก่

รูปแบบที่หนึ่ง: In-process
การดำเนินกิจกรรมโดยใช้ธุรกิจแกนหลัก (Core Business Activities) และทรัพยากรที่องค์กรมีอยู่ในสถานประกอบการ ในช่องทางการตลาด และในสายอุปทาน เพื่อให้ความช่วยเหลือในช่วงสถานการณ์โควิด

รูปแบบที่สอง: After-process
การให้และกิจกรรมเพื่อสังคม (Social and Philanthropic Activities) ด้วยการระดมทรัพยากรและสมรรถภาพหลักขององค์กรเพื่อให้ความช่วยเหลือชุมชนที่ธุรกิจดำเนินงานอยู่ รวมถึงการพิจารณาให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มที่องค์กรธุรกิจให้ความสนใจช่วยเหลือในช่วงสถานการณ์โควิด

รูปแบบที่สาม: Co-process
การเข้าร่วมหารือและผลักดันในนโยบายสาธารณะ (Policy Dialogue and Advocacy Activities) เป็นการทำงานขององค์กรและการร่วมกับองค์กรอื่นในการผลักดันให้เกิดการวางแผน การประสานงาน การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับนานาชาติเพื่อให้ความช่วยเหลือในช่วงสถานการณ์โควิด

บทบาทของภาคธุรกิจในระยะฟื้นฟูหลังสถานการณ์คลี่คลาย มีความสำคัญยิ่ง และไม่ได้ส่งผลเฉพาะกับการทำธุรกิจตามปกติเท่านั้น แต่การดำเนินบทบาทเหล่านี้ ยังสามารถนำไปสู่การสนับสนุน (และชี้นำ) การทำงานขององค์กรในอนาคต

สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ได้ชี้ให้เห็นความจำเป็นของการวางแผนรับมือสถานการณ์ด้านสุขภาพที่คล้ายคลึงกันในอนาคต รวมไปถึงการตระเตรียมบทบาททางธุรกิจเฉพาะสาขา ที่จำเป็นต่อการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและระดับท้องถิ่น การกำหนดบทบาทของภาคธุรกิจที่มีส่วนในการฟื้นฟูและสร้างผลกระทบในวงกว้าง ตลอดจนการสนับสนุนให้ธุรกิจดำเนินไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน