Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

2021: ปีแห่งวัฒนธรรมสุขภาพองค์กร


สวัสดีปีใหม่ ปี 2564 แด่ท่านผู้อ่านทุกท่านครับ

ย่างก้าวเข้าสู่ปีใหม่ ปีที่มีความยากต่อการคาดเดาถึงสิ่งจะเกิดขึ้น อันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะการระบาดรอบใหม่ ที่ทำให้จำเป็นต้องมีการนำมาตรการจำกัดการเดินทาง การยกเลิกกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ รวมถึงการปิดบริการที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสและแพร่เชื้อ มาบังคับใช้ในหลายพื้นที่อีกครั้ง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภาคธุรกิจที่มีการฟื้นสภาพการดำเนินงาน (Recovery) เพื่อเตรียมกลับเข้าสู่ภาวะปกติหรือใกล้เคียงกับภาวะปกติ ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 63 อันเนื่องมาจากการปลอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศจากการระบาดรอบแรก กลับต้องนำมาตรการรับมือหรือเผชิญกับการแพร่ระบาด (Response) รอบใหม่ มาใช้อีกครั้งในช่วงรอยต่อของปีใหม่

แม้การรับมือในครั้งนี้ จะมีประสบการณ์ที่นำมาใช้ได้จากผลสำเร็จในรอบที่แล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การระบาดรอบใหม่ ทำให้การฟื้นตัวของธุรกิจมีความยืดเยื้อยาวนานขึ้น การพยากรณ์ยอดรายรับในอนาคต และการวางแผนเรื่องทุนสำรองและค่าใช้จ่ายของกิจการ ต้องปรับรื้อและคำนวณใหม่หมด บนสมมติฐานของการระบาดรอบใหม่

เหนือสิ่งอื่นใด คือ การปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินสืบเนื่องไปในระยะยาว (Resilience) เป็นการปรับตัวทางธุรกิจให้มีสภาพพร้อมรองรับกับภาวะปกติใหม่ (New Normal) ด้วยมาตรการที่คำนึงถึงประเด็นด้านความยั่งยืน เนื่องเพราะประเด็นความยั่งยืนถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การปรับตัวเกิดผลสัมฤทธิ์

เมื่อพิจารณาประเด็นความยั่งยืนที่เชื่อมโยงกับเรื่องสุขภาพ หน่วยงาน GRI (Global Reporting Initiative) ได้เผยแพร่เอกสาร Linking the GRI Standards and the Culture of Health for Business Framework เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2563 สำหรับให้กิจการใช้เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อยกระดับการดำเนินงานด้านสุขภาพ ที่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านกลยุทธ์ ด้านนโยบายและสวัสดิการ ด้านแรงงานและสถานปฏิบัติงาน และด้านชุมชน

จากการสำรวจข้อมูลความยั่งยืนของกิจการไทย จำนวน 115 แห่ง ในรายงานสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ ปี 2563 หรือ “The State of Corporate Sustainability in 2020” โดยสถาบันไทยพัฒน์ พบว่า องค์กรมีการเปิดเผยประเด็นความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับข้อปฏิบัติทางธุรกิจด้านวัฒนธรรมสุขภาพ (Culture of Health Business Practice: COHBP) มากสุดห้าอันดับแรก ได้แก่ ประเด็นผลเชิงเศรษฐกิจ จำนวน 102 องค์กร (88.70%) รองลงมาเป็น อาชีวอนามัยและความปลอดภัย จำนวน 88 องค์กร (76.52%) การฝึกอบรมและการให้ความรู้ จำนวน 83 องค์กร (72.17%) การจ้างงาน จำนวน 79 องค์กร (68.70%) และมลอากาศ จำนวน 75 องค์กร (65.22%) ตามลำดับ


ระดับการเปิดเผยข้อมูลประเด็นความยั่งยืนที่เกี่ยวกับข้อปฏิบัติทางธุรกิจด้านวัฒนธรรมสุขภาพ (COHBP)

ข้อมูลการเปิดเผยประเด็นความยั่งยืนที่องค์กรให้ความสำคัญดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของการปฏิบัติของภาคธุรกิจด้านสุขภาพที่มีต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยองค์กรส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะดำเนินการด้านสุขภาพผ่านการมีส่วนร่วมกับชุมชน ในลักษณะของการลงทุนในชุมชนหรือโครงการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ต่อชุมชนในการรับมือและฟื้นฟูต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มีการให้ความสำคัญในการคัดกรองป้องกัน รวมทั้งส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เสริมสร้างความเข้าใจและให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาทุนทางสังคม มีการบริหารจัดการความมั่นคงในตำแหน่งงาน การประกันสุขภาพโดยนายจ้าง เป็นต้น

สถานการณ์โควิด-19 ได้ทำให้น้ำหนักความสำคัญต่อประเด็นด้านความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเรื่องวัฒนธรรมสุขภาพองค์กร จะเป็นประเด็นสาระสำคัญ (Material Topic) ในกระบวนการวิเคราะห์สารัตภาพเพื่อการพัฒนาสู่ความยั่งยืนขององค์กร และจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ที่กิจการใช้ปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินสืบเนื่องไป (Resilience) ในระยะยาว นับจากนี้


[Original Link]