Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

GCI: Core Indicators

Rational      Principles      Core Indicators      Resources

ตัวชี้วัดหลักสำหรับตอบสนอง SDG มีจำนวน 16 รายการ 34 ตัวชี้วัดใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ 4 รายการ 8 ตัวชี้วัด ด้านสิ่งแวดล้อม 6 รายการ 12 ตัวชี้วัด ด้านสังคม 4 รายการ 7 ตัวชี้วัด และด้านสถาบัน 2 รายการ 7 ตัวชี้วัด

ด้านเศรษฐกิจ
A.1 ยอดรายได้และมูลค่าเพิ่ม
A.1.1 ยอดรายได้

การเพิ่มขึ้นของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในรอบระยะเวลาบัญชีในรูปของกระแสรับเข้าของสินทรัพย์ หรือการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ หรือการลดลงของหนี้สิน ซึ่งส่งผลให้ส่วนของเจ้าของเพิ่มขึ้น โดยไม่รวมถึงส่วนทุนที่ได้รับจากผู้มีส่วนร่วมในส่วนของเจ้าของ ซึ่งเป็นไปตามคำนิยามในมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ ฉบับที่ 15 (IFRS 15) เรื่องรายได้จากสัญญาที่ทํากับลูกค้า (Revenue from Contracts with Customers)

ในกรณีที่องค์กรมิได้รายงานตาม IFRS 15 และใช้ IFRS for SMEs (มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม) องค์กรควรมีการระบุและอธิบายไว้อย่างชัดแจ้ง

ตัวเลขยอดรายได้รวม ควรเป็นตัวเลขเดียวกันกับที่ปรากฏในข้อมูลบัญชีการเงินที่ฝ่ายจัดการใช้ภายในกิจการ (Management Account) และตรงกับตัวเลขในงบการเงินที่ผ่านการสอบทานสำหรับเปิดเผยต่อบุคคลภายนอก (Audited Financial Statement)

A.1.2 มูลค่าเพิ่ม

ส่วนต่างระหว่างรายได้และต้นทุนค่าวัสดุ สินค้าและบริการ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ความมั่งคั่งที่กิจการสามารถสร้างและกระจายในหมู่ผู้มีส่วนได้เสีย (พนักงาน เจ้าหนี้ องค์การของรัฐ ผู้ถือหุ้น)

มูลค่าเพิ่ม สามารถคำนวณได้จากส่วนของสมการ

มูลค่าเศรษฐกิจทางตรง (ยอดรายได้ + รายได้อื่น) หักด้วยมูลค่าเศรษฐกิจที่จำหน่ายออก (ต้นทุนการดำเนินงาน + ค่าจ้างและสวัสดิการพนักงาน เงินที่ชำระแก่เจ้าของเงินทุน + เงินที่ชำระแก่รัฐ + การลงทุนในชุมชน)

โดยมูลค่าเศรษฐกิจทางตรงที่เกิดขึ้น (Direct economic value generated) ประกอบด้วย ยอดรายได้ และรายได้อื่นที่มาจากการลงทุนทางการเงิน (เช่น ดอกเบี้ยรับจากเงินให้ยืม และเงินปันผลรับจากการถือครองหลักทรัพย์) และจากการขายสินทรัพย์ ทั้งสินทรัพย์ที่จับต้องได้ (อาทิ ทรัพย์สิน โครงสร้างพื้นฐาน และอุปกรณ์) และสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (อาทิ สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา)

มูลค่าเศรษฐกิจที่จำหน่ายออก (Economic value distributed) ประกอบด้วย
ต้นทุนการดำเนินงาน ได้แก่ เงินจ่ายทั้งหมดที่ชำระให้แก่หน่วยงานภายนอก เป็นค่าวัสดุ ชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการ ตัวอย่างของต้นทุนการดำเนินงาน ที่นอกเหนือจากค่าวัสดุและชิ้นส่วนที่ใช้ในกระบวนการผลิต ได้แก่ ค่าเช่าทรัพย์สิน ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต เงินจ่ายคนงานตามสัญญาจ้าง
ค่าจ้างและสวัสดิการพนักงาน ได้แก่ ค่าจ้าง (รวมเงินเดือนพนักงาน และเงินที่จ่ายให้แก่รัฐในนามของพนักงาน) และสวัสดิการ (ไม่รวมค่าฝึกอบรม ค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ป้องกันอันตรายหรือค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการทำหน้าที่ในตำแหน่งงานของพนักงานโดยตรง) ตัวอย่างของเงินที่จ่ายให้แก่รัฐในนามของพนักงาน ได้แก่ ภาษี เงินนำส่งรัฐ (Levies) และเงินกองทุนกรณีว่างงาน (Unemployment Fund) ตัวอย่างของสวัสดิการ ได้แก่ เงินสมทบปกติ (อาทิ บำนาญ ประกัน ยานพาหนะ และสุขภาพภาคเอกชน) เงินสนับสนุนอื่น (อาทิ เคหะ เงินกู้ปลอดดอกเบี้ย เงินช่วยเหลือค่าโดยสารในระบบขนส่งสาธารณะ เงินอุดหนุนทางการศึกษา และเงินชดเชยการให้ออกเพราะยุบตำแหน่ง)
เงินที่ชำระแก่เจ้าของเงินทุน ได้แก่ เงินปันผลจ่ายแก่ผู้ถือหุ้น ดอกเบี้ยจ่ายแก่เจ้าหนี้ (ดอกเบี้ยที่เกิดจากหนี้และการกู้ยืมทุกรูปแบบ มิได้จำกัดเพียงหนี้ระยะยาว)
เงินที่ชำระแก่รัฐ ได้แก่ ภาษีกิจการที่พึงจ่ายทั้งหมด รวมถึงเบี้ยปรับที่เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระหว่างประเทศ (ดูหัวข้อ A.2.1 ภาษีและเงินอื่นที่จ่ายให้แก่รัฐ เพิ่มเติม)
การลงทุนในชุมชน ได้แก่ การบริจาคโดยสมัครใจ การลงเงินในกองทุนสำหรับชุมชนส่วนรวมที่ซึ่งผู้ได้รับประโยชน์กลุ่มเป้าหมายเป็นบุคคลภายนอกองค์กร รวมถึงเงินช่วยเหลือองค์กรสาธารณกุศล องค์กรภาคประชาสังคม และสถาบันวิจัย (ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาเชิงพาณิชย์ของกิจการ) เงินกองทุนสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน (อาทิ แหล่งนันทนาการ) และเงินช่วยเหลือทางตรงในกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น การจัดกิจกรรมทางศิลปะและการศึกษา ในกรณีที่เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน กิจการสามารถรวมต้นทุนค่าสินค้าและค่าแรง รวมทั้งต้นทุนค่าดำเนินงานสำหรับสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกหรือกิจกรรมให้มีการดำเนินงานต่อเนื่อง นอกเหนือจากต้นทุนค่าลงทุน (ดูหัวข้อ A.3.2 การลงทุนชุมชน เพิ่มเติม)

จากสมการข้างต้น มูลค่าเพิ่ม คำนวณได้จาก มูลค่าเศรษฐกิจทางตรง หักด้วย ต้นทุนการดำเนินงาน (ต้นทุนสินค้าและบริการที่ซื้อจากผู้ส่งมอบภายนอก)

ตัวเลขส่วนต่างที่ได้ มักเรียกว่า มูลค่าเพิ่มมวลรวม หรือ Gross Value Added (GVA)

A.1.3 มูลค่าเพิ่มสุทธิ

มูลค่าเพิ่มสุทธิ เป็นตัวเลขที่นำค่าเสื่อมราคา (Depreciation) มาหักออกจากมูลค่าเพิ่ม โดยมูลค่าเพิ่มสุทธิในนิยามนี้ จะหักเฉพาะค่าเสื่อมราคา ซึ่งคำนวณจากสินทรัพย์ที่จับต้องได้ เช่น ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ มิได้นำค่าตัดจำหน่าย (Amortization) ซึ่งคำนวณจากสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ เช่น สิทธิการเช่า ลิขสิทธิ์ มาหักออกด้วย


A.2 เงินจ่ายแก่รัฐ
A.2.1 ภาษีและเงินอื่นที่จ่ายให้แก่รัฐ

ยอดภาษี ที่รวมถึงภาษีเงินได้ ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ฯลฯ ค่าปรับ ค่าฤชาธรรมเนียม ค่าสิทธิ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จ่ายแก่รัฐ ในรอบการรายงาน ทั้งนี้ ไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเข้าครอบครองทรัพย์สินของรัฐ (เช่น การเข้าซื้อกิจการรัฐวิสาหกิจ) เบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่เกิดจากมาตรการลงโทษที่มิได้เกี่ยวกับการชำระภาษีอากร (เช่น การปล่อยมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อม)

ในกรณีที่กิจการได้รับเงินอุดหนุนช่วยเหลือและเงินรับอื่นจากรัฐ ให้แยกการเปิดเผยเป็นรายการต่างหาก

สำหรับกิจการที่มีแหล่งดำเนินงานในหลายประเทศ ควรมีการรายงานแยกตามประเทศที่ตั้งแหล่งดำเนินงาน และในกรณีที่กิจการมีสาขาในประเทศนั้นๆ ที่เป็นนิติบุคคลมากกว่าหนึ่งแห่ง ควรมีการจัดทำรายงานรวมของทุกสาขา เพื่อประโยชน์แก่ผู้มีส่วนได้เสียในการได้รับข้อมูลภาพรวมในระดับประเทศ

A.3 ยอดลงทุน/รายจ่ายใหม่
A.3.1 การลงทุนสีเขียว

ยอดการลงทุนทางตรงและทางอ้อมด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งในแง่ของการป้องกัน การลด และการขจัดมลภาวะและการเสื่อมสภาพของสิ่งแวดล้อมในรูปแบบอื่น ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการลงทุนที่เป็นความจำเป็นด้านเทคนิคและเป็นไปตามข้อกำหนดภายในที่เกี่ยวกับสุขอนามัย ความปลอดภัย และความมั่นคงของกิจการ

นิยามของคำว่า “สีเขียว” มีความหลากหลายตามแต่ละกิจการที่นำไปใช้ (Environmental, Ecological, Eco-friendly) ซึ่งโดยทั่วไป หมายรวมถึง การผลิตพลังงานไฟฟ้าและยานพาหนะที่ใช้คาร์บอนต่ำ โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การควบคุมมลพิษ การแปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ การจัดการของเสียและการนำกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปของทรัพยากรใหม่หรือแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน (Waste of Energy) รวมถึงเทคโนโลยีอื่นใดที่ช่วยในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

การจัดจำพวกในการดำเนินการ สามารถแบ่งเป็น การลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ก๊าซเรือนกระจกที่หลีกเลี่ยงได้ หรือกักเก็บได้เพิ่มขึ้น) การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ความเสียหายและความปั่นป่วนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบเฉียบพลันและเรื้อรังที่ลดได้) ถิ่นที่อยู่ทางธรรมชาติที่ดีต่อสุขภาพ (ปกป้องและเพิ่มพูนความหลากหลายทางชีวภาพและถิ่นที่อยู่ทางบกและทางทะเล) การจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ (ประสิทธิภาพการใช้น้ำ การจัดการและการใช้น้ำอย่างยั่งยืน) และการทำให้เกิดของเสียน้อยที่สุด (การนำกลับมาใช้ซ้ำ และเศรษฐกิจหมุนเวียน)1

ตัวชี้วัดนี้ ควรมีหน่วยวัดที่เป็นตัวเงิน (ตามต้นทุนจริงที่แสดงในใบเสร็จหรือเอกสารการเงิน) คำนวณเป็นยอดรวมของการลงทุนสีเขียวตามรอบการรายงานนั้นๆ ทั้งนี้ กิจการอาจแสดงตัวเลขอัตราส่วนที่เป็นร้อยละของการลงทุนสีเขียว เทียบกับสินทรัพย์รวม และ/หรือรายได้รวม เป็นข้อมูลเพิ่มเติม และมีการแสดงข้อมูลแยกตามรายประเทศ กรณีที่เป็นกิจการข้ามชาติ



--------------------------------------
1 https://ec.europa.eu/info/sites/info/files/180131-sustainable-finance-final-report_en.pdf, p.18.

A.3.2 การลงทุนชุมชน

ยอดการบริจาคและการลงทุนในชุมชนแก่ผู้ได้รับประโยชน์กลุ่มเป้าหมายที่อยู่ภายนอกกิจการ หมายรวมถึงการลงทุนในสิ่งปลูกสร้างที่อยู่นอกเหนือธุรกิจหลักของกิจการ (เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล สำหรับแรงงานและครอบครัว) ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการลงทุนหรือธุรกรรมในเชิงพาณิชย์และที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีเจตจำนงที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของกิจการในทางธุรกิจ (เช่น การสร้างถนนหนทางเข้าสู่โรงงาน)

ตัวอย่างของรายการที่สามารถนำมาคำนวณรวมในยอดการลงทุนชุมชน ได้แก่ เงินบริจาคเพื่อสาธารณกุศล องค์กรภาคประชาสังคม สถาบันวิจัย (ที่ไม่เกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาเชิงพาณิชย์ของกิจการ) เงินกองทุนเพื่อการศึกษา การแพทย์ และสันทนาการ สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชุมชน เงินช่วยเหลือทางตรงในกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น การจัดกิจกรรมทางศิลปะและการศึกษา และเงินช่วยเหลือฟื้นฟูฉุกเฉินในกรณีภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ตัวชี้วัดนี้ ควรมีหน่วยวัดที่เป็นตัวเงิน แยกเป็นรายจ่ายฝ่ายทุน (Capital Expenditure) และรายจ่ายในการดำเนินงาน (Operating Expenditure) ตามรอบการรายงานนั้นๆ อย่างไรก็ดี การคำนวณตัวเลขตามตัวชี้วัดนี้ สามารถรวมความช่วยเหลือและการบริจาคที่มิใช่ตัวเงิน อาทิ เวลาและทรัพยากรที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม ตามมูลค่ายุติธรรม (Fair Value)

ทั้งนี้ กิจการอาจแสดงตัวเลขอัตราส่วนที่เป็นร้อยละของการลงทุนชุมชน เทียบกับสินทรัพย์รวม และ/หรือรายได้รวม เป็นข้อมูลเพิ่มเติม และมีการแสดงข้อมูลแยกตามรายประเทศ กรณีที่เป็นกิจการข้ามชาติ

A.3.3 ยอดรายจ่ายรวมในการวิจัยและพัฒนา

รายจ่ายด้านการวิจัยทั้งที่เป็นงานแรกเริ่มและงานตามแผนเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้และความเข้าใจใหม่ในเชิงเทคนิคและเชิงวิทยาศาสตร์ (เรียกว่า รายจ่ายการวิจัย) รวมถึงการประยุกต์ข้อค้นพบในการวิจัยหรือความรู้อื่นใดในการวางแผนและออกแบบซึ่งนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาวัสดุ อุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ กระบวนการ ระบบ หรือบริการ ก่อนเริ่มต้นผลิตหรือใช้ในเชิงพาณิชย์ (เรียกว่า รายจ่ายการพัฒนา)

ในการบันทึกบัญชีตามมาตรฐาน GAAP ต้นทุนทุกการวิจัยและพัฒนา ถือเป็นค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดรายการขึ้น (และจะถูกตัดจำหน่ายในงบกำไรขาดทุน) ส่วนในมาตรฐาน IFRS (IAS38) ต้นทุนการวิจัย ถือเป็นค่าใช้จ่าย ขณะที่รายจ่ายการพัฒนา ถือเป็นการลงทุน (จัดเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ มีการตัดจำหน่ายและรายงานในงบดุล)

ตัวอย่างของค่าใช้จ่ายวิจัย ได้แก่ รายจ่ายการทดลองเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ใหม่ในการพัฒนาวัคซีนของกิจการในเภสัชอุตสาหกรรม ตัวอย่างของค่าใช้จ่ายการพัฒนา ได้แก่ การออกแบบ การสร้าง และการทดลองตัวแบบรถยนต์ในขั้นตอนเตรียมการก่อนการผลิตของกิจการในอุตสาหกรรมยานยนต์

ตัวชี้วัดนี้ กำหนดให้ใช้หน่วยวัดที่เป็นตัวเงิน ตามรอบการรายงานของกิจการ ทั้งนี้ กิจการอาจแสดงตัวเลขอัตราส่วนที่เป็นร้อยละของรายจ่ายรวมในการวิจัยและพัฒนา เทียบกับสินทรัพย์รวม และ/หรือรายได้รวม เป็นข้อมูลเพิ่มเติม โดยมีการแสดงข้อมูลแยกตามรายประเทศ กรณีที่เป็นกิจการข้ามชาติ ทั้งนี้ โครงการและข้อตกลงวิจัยและพัฒนา สามารถดำเนินการร่วมกับสถาบันการศึกษาที่ไม่จำเป็นต้องมีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรนิติบุคคลก็ได้


A.4 ผู้ส่งมอบ/แผนจัดซื้อท้องถิ่น
A.4.1 ร้อยละของการจัดหาท้องถิ่น

สัดส่วนการใช้จ่ายที่มีต่อผู้ส่งมอบท้องถิ่นของกิจการ ที่แสดงถึงขอบเขตความเกี่ยวโยงของกิจการกับเศรษฐกิจท้องถิ่น

เกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาผู้ส่งมอบท้องถิ่น กิจการควรระมัดระวังมิให้เกิดข้อกังวลในเรื่องการกีดกันทางการค้าหรือทางการแข่งขันด้วยการใช้เกณฑ์แหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ของผู้ส่งมอบ และในทางกลับกัน ผู้ส่งมอบซึ่งมีแหล่งที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่น อาจเป็นผู้จัดหาสินค้าจากแหล่งภายนอกที่มิได้มาจากท้องถิ่น

กิจการควรรายงานตัวเลขยอดรวมของการจัดซื้อท้องถิ่นเป็นตัวเงิน นอกเหนือจากตัวเลขอัตราส่วนร้อยละของยอดการจัดซื้อรวมของกิจการ

นอกจากนี้ กิจการสามารถจำแนกตัวเลขการจัดซื้อท้องถิ่นแยกตามขนาดกิจการของผู้ส่งมอบ โดยยึดถือตามเกณฑ์ในประเทศที่กิจการมีแหล่งดำเนินงาน (อาทิ นิยามในกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดจำนวนการจ้างงานหรือรายได้ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจรายย่อย: ผู้เรียบเรียง) หรือใช้เกณฑ์ที่เป็นบรรทัดฐานสากล ในกรณีที่ในประเทศนั้นๆ มิได้มีเกณฑ์ที่กำหนดแน่ชัด


ด้านสิ่งแวดล้อม
B.1 การใช้น้ำที่ยั่งยืน
B.1.1 ปริมาณน้ำที่นำกลับมาใช้ซ้ำและที่ปรับสภาพเพื่อใช้ใหม่

ยอดรวมปริมาณน้ำที่กิจการปรับสภาพกลับมาใช้ใหม่ และ/หรือนำกลับมาใช้ซ้ำ ในรอบการรายงาน มีหน่วยวัดเป็นลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ กิจการควรรายงานตัวเลขร้อยละของยอดรวมปริมาณน้ำที่กิจการปรับสภาพกลับมาใช้ใหม่ และ/หรือนำกลับมาใช้ซ้ำ เทียบกับยอดรวมปริมาณน้ำที่ถูกนำมาใช้จากแหล่งต่างๆ (อาทิ น้ำจืดผิวดิน น้ำบาดาล น้ำทะเล/น้ำกร่อย น้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิต/น้ำที่เกิดจากกระบวนการผลิต) และน้ำที่จัดหามาจากแหล่งภายนอก ซึ่งนำเข้ามาใช้ในกิจการในรอบการรายงานนั้นๆ

การนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำและปรับสภาพเพื่อใช้ใหม่ หมายถึง การนำน้ำที่ใช้แล้วและน้ำเสีย (ที่บำบัดแล้ว หรือที่ยังไม่ได้บำบัด) เข้าสู่กระบวนการก่อนปล่อยออกสู่ภายนอก

กิจการควรแสดงความเปลี่ยนแปลงหรือความคืบหน้าในการดำเนินการตามตัวชี้วัด ด้วยการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานในรอบการรายงานปัจจุบัน (t) เทียบกับผลการดำเนินงานในรอบการรายงานก่อนหน้า (t-1) เพื่อเฝ้าติดตามและใช้สื่อสารถึงความก้าวหน้าของการนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำและปรับสภาพเพื่อใช้ใหม่

B.1.2 ประสิทธิภาพการใช้น้ำ

ตัวเลขปริมาณน้ำที่ถูกนำมาใช้ (ทั้งจากแหล่งธรรมชาติและรับมาจากแหล่งภายนอก) ต่อมูลค่าเพิ่มสุทธิ (ตัวชี้วัด A.1.3) ในรอบการรายงาน และตัวเลขการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำที่ถูกนำมาใช้ต่อมูลค่าเพิ่มสุทธิ เทียบกับรอบการรายงานก่อนหน้า มีหน่วยวัดเป็นลูกบาศก์เมตร และเป็นร้อยละของมูลค่าเพิ่มสุทธิในรอบการรายงาน

กิจการควรแสดงความเปลี่ยนแปลงหรือความคืบหน้าในการดำเนินการตามตัวชี้วัด ด้วยการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานในรอบการรายงานปัจจุบัน (t) เทียบกับผลการดำเนินงานในรอบการรายงานก่อนหน้า (t-1) เพื่อเฝ้าติดตามและใช้สื่อสารถึงความก้าวหน้าของการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

B.1.3 ความตึงตัวทางทรัพยากรน้ำ

ปริมาณน้ำที่ถูกนำมาใช้ จำแนกตามแหล่งที่รับน้ำ (อาทิ น้ำผิวดิน น้ำบาดาล น้ำฝน น้ำเสีย) โดยอ้างอิงกับพื้นที่ที่มีความตึงตัวทางทรัพยากรน้ำหรือที่ขาดแคลนน้ำ แสดงเป็นหน่วยลูกบาศก์เมตร และแสดงเป็นหน่วยร้อยละของปริมาณน้ำที่ถูกนำมาใช้จากแหล่งน้ำในพื้นที่ที่มีความตึงตัวทางทรัพยากรน้ำหรือที่ขาดแคลนน้ำ เทียบกับยอดรวมปริมาณน้ำที่ถูกนำมาใช้ทั้งหมด

B.2 การจัดการของเสีย
B.2.1 ปริมาณการเกิดของเสียที่ลดได้

ตัวเลขความเปลี่ยนแปลงปริมาณการเกิดของเสียต่อมูลค่าเพิ่มสุทธิ โดยของเสียในที่นี้ หมายถึงผลผลิตที่ไม่สามารถใช้เป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีมูลค่าตลาดเป็นศูนย์หรือติดลบ แต่ไม่รวมถึงน้ำทิ้งและการปล่อยมลอากาศ

ยอดรวมปริมาณการเกิดของเสียในรอบการรายงาน เป็นผลรวมของของเสียอนินทรีย์ ของเสียที่ไม่ใช่อนินทรีย์ และ/หรือของเสียอันตราย ที่ต้องได้รับการบำบัดโดยใช้เทคโนโลยีการบำบัดของเสียวิธีใดวิธีหนึ่ง2 แต่ไม่รวมของเสียที่ได้รับการบำบัด (ทั้ง ณ แหล่งกำเนิด และนอกแหล่งกำเนิดของเสีย) ในระบบปิด (Closed-loop) ภายใต้กระบวนการแปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ การนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือการนำมาใช้ผลิตใหม่ โดยที่วัสดุส่งออกจากกระบวนการดังกล่าวถูกนำมาใช้โดยกิจการเอง (ดูแผนภาพประกอบ)


การรายงานตามตัวชี้วัดนี้ ควรใช้หน่วยวัดที่เป็นน้ำหนัก (หน่วยกิโลกรัม และหน่วยตัน) โดยของเสียที่วัดเป็นหน่วยปริมาตร (หน่วยลิตร หรือลูกบาศก์เมตร) ควรแปลงให้อยู่ในรูปของน้ำหนัก

ตัวเลขปริมาณการเกิดของเสีย ควรแสดงเป็นค่าสัมบูรณ์ (Absolute) ซึ่งจะมีหน่วยวัดเป็นกิโลกรัม หรือตัน และคำนวณด้วยการปรับบรรทัดฐาน (Normalize) โดยหารด้วยมูลค่าเพิ่มสุทธิ (ตัวชี้วัด A.1.3 ที่มีหน่วยเป็นบาท) ซึ่งจะมีหน่วยวัดเป็น กิโลกรัม/บาท หรือตัน/บาท

กิจการควรแสดงความเปลี่ยนแปลงหรือความคืบหน้าในการดำเนินการตามตัวชี้วัด ด้วยการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานในรอบการรายงานปัจจุบัน (t) เทียบกับผลการดำเนินงานในรอบการรายงานก่อนหน้า (t-1) ตัวเลขความเปลี่ยนแปลงนี้ ช่วยให้กิจการเห็นถึงสัญญาณของการปรับปรุงพัฒนาผลิตภาพและประสิทธิภาพในกระบวนการ ที่สะท้อนอยู่ในมุมมองทางการเงิน อาทิ การประหยัดต้นทุนจากการแปรสภาพวัสดุและการกำจัดวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว

--------------------------------------
2 เทคโนโลยีการบำบัดของเสีย เป็นกระบวนการนำของเสียมาปรับสภาพอย่างถาวร โดยผ่านวิธีการทางกายภาพ ชีวภาพ หรือเคมี เพื่อวัตถุประสงค์ในการลดหรือขจัดความเป็นอันตรายต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม ดูคำอธิบายเพิ่มเติมจากเอกสาร A Manual for the Preparers and Users of Eco-efficiency Indicators (UNCTAD/EEI) p.93, section III.F.3.d (http://unctad.org/en/Docs/iteipc20037_en.pdf).

B.2.2 ปริมาณของเสียที่แปรสภาพใช้ใหม่ ที่ใช้ผลิตใหม่ และที่นำกลับมาใช้ซ้ำ

การนำกลับมาใช้ซ้ำ เป็นการยืดอายุการใช้ส่วนประกอบ ชิ้นส่วน หรือผลิตภัณฑ์ หลังพ้นจากวัฏจักรของการให้บริการตามที่กำหนดแน่ชัด โดยอาจต้องอาศัยการทำความสะอาด การซ่อมแซม หรือการปรับแต่งให้เหมือนใหม่ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่

การนำมาใช้ผลิตใหม่ เป็นการยืดอายุการใช้ส่วนประกอบ ชิ้นส่วน หรือผลิตภัณฑ์ หลังพ้นจากวัฏจักรของการให้บริการตามที่กำหนดแน่ชัด โดยนำเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ ที่มิใช่เพียงแค่การทำความสะอาด การซ่อมแซม หรือการปรับแต่งให้เหมือนใหม่

การแปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ เป็นการนำเศษซาก (Scrap) หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วกลับคืนมาเพื่อใช้ซ้ำในกระบวนการผลิตสินค้าใหม่ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่ ด้วยการเผาและนำความร้อนกลับมาใช้ (Thermal Recycling) ซึ่งเป็นการกำจัดซากโดยระบบเตาเผา (Incineration) อนึ่ง กระบวนการปรับสภาพ (Pre-treating Process) ของเสีย ให้รวมเป็นส่วนหนึ่งของการแปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ด้วย

กิจการควรแยกการแปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ การนำมาใช้ผลิตใหม่ และการนำกลับมาใช้ซ้ำ ระหว่างการใช้ระบบเปิด (Open-loop) และระบบปิด (Closed-loop) โดยที่ระบบเปิด หมายถึง วัสดุที่แปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ ที่นำมาใช้ผลิตใหม่ และที่นำกลับมาใช้ซ้ำ ถูกจำหน่ายออกสู่ตลาด ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์โดยกิจการเอง กับระบบปิด หมายถึง กิจการนำวัสดุที่แปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ ที่นำมาใช้ผลิตใหม่ และที่นำกลับมาใช้ซ้ำเหล่านั้น มาใช้ประโยชน์โดยกิจการเอง

ตัวชี้วัดนี้ ใช้หน่วยวัดที่เป็นน้ำหนัก (หน่วยกิโลกรัม และหน่วยตัน) แสดงเป็นค่าสัมบูรณ์ (Absolute) และคำนวณด้วยการปรับบรรทัดฐาน (Normalize) โดยหารด้วยมูลค่าเพิ่มสุทธิ (ตัวชี้วัด A.1.3 ที่มีหน่วยเป็นบาท) ซึ่งจะมีหน่วยวัดเป็น กิโลกรัม/บาท หรือตัน/บาท

กิจการควรแสดงความเปลี่ยนแปลงหรือความคืบหน้าในการดำเนินการตามตัวชี้วัด ด้วยการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานในรอบการรายงานปัจจุบัน (t) เทียบกับผลการดำเนินงานในรอบการรายงานก่อนหน้า (t-1) เพื่อให้สอดรับกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

B.2.3 ปริมาณของเสียอันตราย

ยอดรวมปริมาณของเสียอันตรายที่เป็นค่าสัมบูรณ์ (หน่วยกิโลกรัม หรือหน่วยตัน) และสัดส่วนปริมาณของเสียอันตรายที่ได้รับการบำบัดเทียบกับปริมาณของเสียทั้งหมดในรอบการรายงาน

ของเสียที่มีลักษณะอันตราย ในที่นี้ ยึดตามอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด (Basel Convention on the Control of Transboundary Movements of Hazardous Wastes and Their Disposal) ดังนี้ ระเบิดได้ (H1) ของเหลวไวไฟ (H3) ของแข็งติดไฟ (H4.1) สารหรือของเสียซึ่งอาจจะลุกไหม้ได้เอง (H4.2) สารหรือของเสียซึ่งเมื่อสัมผัสกับน้ำจะให้ก๊าซไวไฟ (H4.3) ออกซิไดซิงส์ (H5.1) สารอินทรีย์ของเปอร์ออกไซด์ (H5.2) เป็นพิษอย่างเฉียบพลัน (H6.1) สารติดเชื้อ (H6.2) กัดกร่อน (H8) ให้ก๊าซพิษเมื่อสัมผัสกับอากาศหรือน้ำ (H10) เป็นพิษอย่างช้าหรือเรื้อรัง (H11) เป็นพิษต่อระบบนิเวศ (H12) สามารถทำให้เกิดของเสียโดยวิธีใดๆ ก็ตามซึ่งมีลักษณะตามที่ระบุข้างต้น ภายหลังการกำจัดสารดังกล่าว (H13)

ของเสียที่มีลักษณะอันตราย ที่เป็นสารกัมมันตรังสี หรือมีสารกัมมันตรังสีเจือปนอยู่ ให้ขึ้นอยู่กับระบบควบคุมในหรือระหว่างประเทศอื่นๆ หรือเมื่อของเสียที่เกิดจากกิจการ เข้าเกณฑ์ของเสียอันตรายตามที่กฎหมายในประเทศนั้นๆ กำหนด

ปริมาณของเสียอันตรายที่กิจการพึงรายงาน เป็นยอดรวมของเสียที่มีลักษณะอันตรายตามรายการที่ระบุข้างต้น โดยใช้หน่วยวัดที่เป็นน้ำหนัก (หน่วยกิโลกรัม และหน่วยตัน) แสดงเป็นค่าสัมบูรณ์ (Absolute) และคำนวณด้วยการปรับบรรทัดฐาน (Normalize) โดยหารด้วยมูลค่าเพิ่มสุทธิ (ตัวชี้วัด A.1.3 ที่มีหน่วยเป็นบาท) ซึ่งจะมีหน่วยวัดเป็น กิโลกรัม/บาท หรือตัน/บาท

กิจการควรแสดงความเปลี่ยนแปลงหรือความคืบหน้าในการดำเนินการตามตัวชี้วัด ด้วยการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานในรอบการรายงานปัจจุบัน (t) เทียบกับผลการดำเนินงานในรอบการรายงานก่อนหน้า (t-1) เพื่อเฝ้าติดตามระดับความก้าวหน้าในการดำเนินงานของกิจการระหว่างรอบการรายงาน

กิจการควรเปิดเผยข้อมูลสัดส่วนของเสียอันตรายที่ได้รับการบำบัดเพื่อลดหรือขจัดความเป็นอันตรายต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม เทียบกับตัวเลขยอดรวมของเสียที่กิจการรายงาน ในหน่วยร้อยละ

นอกจากนี้ กิจการควรแสดงตัวเลขของเสียอันตรายจำแนกตามวิธีการจัดการ อาทิ การนำมาใช้ซ้ำ การแปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ การหมักให้ย่อยสลาย การนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่ การเผากำจัดซาก การอัดฉีดของเสียลงบ่อลึก การฝังกลบ การกักเก็บ ณ แหล่งกำเนิดของเสีย ฯลฯ

ข้อมูลเกี่ยวกับปลายทางที่ของเสียถูกกำจัด จะช่วยแสดงขอบเขตความครอบคลุมที่กิจการใช้พิจารณาทางเลือกของการกำจัดและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลรอบด้าน

B.3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจก
B.3.1 ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง

ตัวเลขปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง (ขอบเขตที่ 1) ต่อมูลค่าเพิ่มสุทธิ (ตัวชี้วัด A.1.3 ที่มีหน่วยเป็นบาท)

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 1 เป็นก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมภายในองค์กร ที่กิจการเป็นเจ้าของหรือควบคุมแหล่งกำเนิดของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น3 อาทิ ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเผาไหม้แบบอยู่กับที่ (Stationary Combustion) ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเผาไหม้แบบที่มีการเคลื่อนที่ (Mobile Combustion) ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการในอุตสาหกรรมจำเพาะ (เช่น ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า แอมโมเนีย) (Process Emissions) และก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการรั่วไหล (Fugitive Emissions)

ตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 1 ให้แสดงปริมาณเป็นค่าสัมบูรณ์ (Absolute) และรายงานในหน่วยตัน (หรือกิโลกรัม) ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ส่วนการคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกโดยการปรับบรรทัดฐาน (Normalize) ให้หารด้วยมูลค่าเพิ่มสุทธิ (ตัวชี้วัด A.1.3 ที่มีหน่วยเป็นบาท) ในรอบการรายงานเดียวกัน โดยมีหน่วยที่รายงานเป็น ตัน (หรือกิโลกรัม) ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อบาท

การแสดงตัวเลขปริมาณก๊าซเรือนกระจกทางตรงที่กิจการปล่อย ควรจำแนกตามหน่วยธุรกิจ แหล่งดำเนินงาน ประเทศ ชนิดแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจก (แบบอยู่กับที่ แบบที่มีการเคลื่อนที่ กรณีที่เกิดจากกระบวนการผลิต กรณีที่เกิดจากการรั่วไหล) และชนิดกิจกรรม

กิจการควรแสดงความเปลี่ยนแปลงหรือความคืบหน้าในการดำเนินการตามตัวชี้วัด ด้วยการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานในรอบการรายงานปัจจุบัน (t) เทียบกับผลการดำเนินงานในรอบการรายงานก่อนหน้า (t-1) เพื่อเฝ้าติดตามระดับความก้าวหน้าในการดำเนินงานของกิจการระหว่างรอบการรายงาน

--------------------------------------
3 ในพิธีสารก๊าซเรือนกระจก (GHG Protocol) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงในขอบเขตที่ 1 ไม่รวมการเผาไหม้ชีวมวล (Combustion of Biomass) แต่ให้แยกรายงานต่างหาก นอกจากนี้ ก๊าซเรือนกระจกที่ไม่ได้ครอบคลุมโดยพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) อาทิ CFCs, NOx ไม่ได้ถูกนับรวมอยู่ในขอบเขตที่ 1 แต่อาจแยกรายงานต่างหากได้.

B.3.2 ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน

ตัวเลขปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (ขอบเขตที่ 2) ต่อมูลค่าเพิ่มสุทธิ (ตัวชี้วัด A.1.3 ที่มีหน่วยเป็นบาท)

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 2 เป็นก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้พลังงานที่มาจากแหล่งพลังงานทุติยภูมิ (Secondary Energy)4 ที่กิจการซื้อหรือจัดหามาจากแหล่งภายนอก การปล่อย “ทางอ้อม” ตามความหมายนี้ เป็นผลพวงมาจากความต้องการใช้พลังงานของกิจการ โดยอาศัยแหล่งกำเนิดของก๊าซเรือนกระจกที่กิจการอื่นเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ควบคุม (เช่น ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า)

กิจการหลายแห่ง มีตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 2 (ทางอ้อม) โดยการซื้อพลังงานไฟฟ้ามาใช้ ในปริมาณที่สูงกว่าตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 1 (ทางตรง) มาก และเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัวเลขก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้พลังงานไฟฟ้าและความร้อน สูงเป็นอันดับสามของโลก5

การคำนวนตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 2 แนะนำให้ใช้เอกสารมาตรฐาน GHG Protocol Scope 2 Guidance สำหรับกิจการ6 โดยคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการใช้ตัวเลขข้อมูลการใช้พลังงานในกิจกรรม (Activity Data) คูณกับค่าตัวประกอบการปล่อย (Emission Factor)

ตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 2 ให้แสดงปริมาณเป็นค่าสัมบูรณ์ (Absolute) และรายงานในหน่วยตัน (หรือกิโลกรัม) ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ส่วนการคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกโดยการปรับบรรทัดฐาน (Normalize) ให้หารด้วยมูลค่าเพิ่มสุทธิ (ตัวชี้วัด A.1.3 ที่มีหน่วยเป็นบาท) ในรอบการรายงานเดียวกัน โดยมีหน่วยที่รายงานเป็น ตัน (หรือกิโลกรัม) ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อบาท

กิจการควรแสดงความเปลี่ยนแปลงหรือความคืบหน้าในการดำเนินการตามตัวชี้วัด ด้วยการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานในรอบการรายงานปัจจุบัน (t) เทียบกับผลการดำเนินงานในรอบการรายงานก่อนหน้า (t-1) เพื่อเฝ้าติดตามระดับความก้าวหน้าในการดำเนินงานของกิจการระหว่างรอบการรายงาน

--------------------------------------
4 พลังงานทุติยภูมิ คือ แหล่งพลังงานที่แปรรูปมาจากพลังงานปฐมภูมิเพื่อให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสมต่อการนำไปใช้งาน เช่น พลังงานไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ความร้อนไอน้ำ ถ่านไม้ ก๊าซชีวภาพ ส่วนพลังงานปฐมภูมิ (Primary Energy) คือ แหล่งพลังงานที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ตามธรรมชาติซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์โดยตรง เช่น น้ำมันดิบ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ แสงอาทิตย์ น้ำ ลม ความร้อนใต้พิภพ แกลบ ชานอ้อย.
5 ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ https://ghgprotocol.org/sites/default/files/ghgp/standards/Scope%202%20Guidance_Final_0.pdf
6 อ้างแล้ว.

B.4 สารเคมีและสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน
B.4.1 ปริมาณสารเคมีและสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน

ตัวเลขปริมาณสารเคมีและสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (ODS) ต่อมูลค่าเพิ่มสุทธิ (ตัวชี้วัด A.1.3 ที่มีหน่วยเป็นบาท)

สารเคมีและสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน เป็นสารที่มีคลอรีน (Cl) หรือโบรมีน (Br) เป็นองค์ประกอบซึ่งมีศักยภาพในการทำลายโมเลกุลของโอโซน (O3) โดยพิธีสารมอนทรีออล (The Montreal Protocol)7 ได้จัดทำรายการสาร ODS ที่เป็นอันตรายและต้องได้รับการควบคุม ไว้ในภาคผนวก A, B, C, E

ในภาคผนวกของพิธีสารมอนทรีออล ได้แสดงรายการสารควบคุมและค่าศักยภาพทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (Ozone Depletion Potential: ODP) ซึ่งบ่งชี้ถึงความรุนแรงของผลกระทบที่มีต่อชั้นบรรยากาศโอโซนเทียบกับสารอ้างอิง คือ สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน CFC-11 ซึ่งให้ค่าศักยภาพทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนเท่ากับ 1 โดยค่า ODP จะคำนวณจาก กิโลกรัม CFC-11 เทียบเท่า ต่อ กิโลกรัมของสาร ODS นั้น

ตัวอย่างการคำนวณ หากกิจการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ฮาลอน-1211 จำนวน 200 กิโลกรัม ในรอบการรายงาน ฮาลอน-1211 มีค่าศักยภาพทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (ODP) เท่ากับ 3 (kg CFC-11 equivalent / kg halon-1211) หมายความว่า กิจการมีส่วนในการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (Ozone Depletion Contribution: ODC) เท่ากับ 200 x 3 = 600 กิโลกรัม CFC-11 เทียบเท่า

การพึ่งพาสาร ODS ของกิจการ8 นิยามจาก ยอดผลิตสาร ODS + ยอดซื้อสาร ODS + ยอดคงคลังของสาร ODS โดยยอดผลิตสาร ODS นับเฉพาะส่วนที่กิจการผลิตใหม่ ไม่นับรวมส่วนที่นำกลับมาใช้ใหม่ (Recovered) ส่วนที่เรียกคืน (Reclaimed) หรือส่วนที่แปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ (Recycled)9

ยอดซื้อสาร ODS นับรวมส่วนที่ประกอบอยู่ในวัสดุที่ใช้ผลิต ในอุปกรณ์เพื่อการใช้งาน ในสินค้าจำหน่าย ใช้เป็นสารเพื่อผลิตสินค้า ใช้เป็นสารในกระบวนการผลิต ใช้เป็นสารในอุปกรณ์ที่ใช้ในกิจการ

ยอดคงคลังของสาร ODS นับรวมสารที่จัดเก็บหรือรวบรวมไว้อยู่ในกิจการเพื่อการใช้งาน (Use) การเรียกคืน (Reclaim) การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recovery) การแปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ (Recycling) หรือการทำลาย (Destruction) ในอนาคต รวมทั้งสารที่อยู่ในตู้บรรทุก ในสินค้า ในอุปกรณ์ที่กิจการเป็นเจ้าของ และใช้ในฐานะผู้รับแปรรูป (Process Agent)

การแสดงตัวเลขที่ปรับบรรทัดฐาน (Normalize) ให้นำยอดรวมของสาร ODS ในหน่วยกิโลกรัม CFC-11 เทียบเท่า หารด้วยมูลค่าเพิ่มสุทธิ (ตัวชี้วัด A.1.3 ที่มีหน่วยเป็นบาท) ในรอบการรายงานเดียวกัน โดยมีหน่วยที่รายงานเป็น กิโลกรัมต่อบาท

กิจการควรแสดงความเปลี่ยนแปลงหรือความคืบหน้าในการดำเนินการตามตัวชี้วัด ด้วยการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานในรอบการรายงานปัจจุบัน (t) เทียบกับผลการดำเนินงานในรอบการรายงานก่อนหน้า (t-1) เพื่อเฝ้าติดตามระดับความก้าวหน้าในการดำเนินงานของกิจการระหว่างรอบการรายงาน

--------------------------------------
7 https://ozone.unep.org/treaties/montreal-protocol
8 ตามรายการเปิดเผยข้อมูล GRI 305-6 กิจการผู้รายงาน ควรคำนวณค่าการปล่อยสาร ODS จากยอดรวมการพึ่งพาสาร ODS หักออกด้วยยอดในส่วนที่นำกลับมาใช้ใหม่ (Recovered) ส่วนที่เรียกคืน (Reclaimed) ส่วนที่แปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ (Recycled) ส่วนที่ถูกทำลาย (Destroyed) ส่วนที่ใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้น (Feedstock) จำหน่าย (Sold) และเก็บเป็นสินค้าคงคลัง (Stock).
9 ตามรายการเปิดเผยข้อมูล GRI 305-6 ยอดผลิตสาร ODS ประกอบด้วย ผลรวมของสาร ODS ที่ผลิตได้ หักออกด้วยส่วนที่ถูกทำลายโดยเทคโนโลยีที่ได้รับการรับรอง หรือส่วนที่ถูกใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตสารเคมีอื่นๆ.

B.5 การใช้พลังงาน
B.5.1 อัตราส่วนการใช้พลังงานทดแทน

ตัวเลขอัตราส่วนการใช้พลังงานทดแทนของกิจการ เทียบกับยอดรวมการใช้พลังงานทั้งหมดในรอบการรายงาน ตัวอย่างของพลังงานทดแทนที่ใช้ ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ ชีวมวล พลังงานน้ำ พลังงานความร้อนใต้พิภพ และพลังงานจากมหาสมุทร

ปริมาณการใช้พลังงานทดแทน คำนวณจากแหล่งเชื้อเพลิงทดแทน (เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ) พลังงานแสงอาทิตย์ ชีวมวล พลังงานน้ำ พลังงานความร้อนใต้พิภพ และพลังงานจากมหาสมุทร10 รวมทั้งความร้อนจากแหล่งกำเนิดพลังงานทดแทน และพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งกำเนิดพลังงานทดแทน11

ยอดรวมการใช้พลังงานทั้งหมดของกิจการ คำนวณจากปริมาณการใช้เชื้อเพลิงที่ใช้แล้วหมดไป (Non-renewable)12 + ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงทดแทน + ปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน ระบบระบายความร้อน และระบบไอน้ำ ทั้งที่ผลิตขึ้นใช้เองและที่จัดซื้อมาจากแหล่งภายนอก หักออกด้วยส่วนที่ขายหรือจำหน่ายออกไปภายนอก

ในการคำนวณปริมาณการใช้พลังงานทดแทน ควรจำแนกที่มาของแหล่งพลังงานทดแทน ตั้งแต่แหล่งที่มีไม่จำกัด (Infinite Renewable Source) เช่น พลังแสงอาทิตย์ ไปจนถึงแหล่งที่มีตามวัฏจักร (Cyclical Renewable Sources) เช่น ชีวมวล

ปริมาณการใช้เชื้อเพลิง มีหน่วยวัดเป็นจูล (Joule) หรือพหุคูณของหน่วยดังกล่าว ปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน ระบบระบายความร้อน และระบบไอน้ำ มีหน่วยวัดเป็นจูล (Joule) หรือ วัตต์-ชั่วโมง หรือพหุคูณของหน่วยดังกล่าว

การคำนวณตัวเลขอัตราส่วนการใช้พลังงานทดแทน ควรใช้หน่วยของตั้วตั้งและตัวหารเป็นหน่วย จูล โภคภัณฑ์พลังงานแต่ละชนิด จะมีปริมาณการให้พลังงาน (Caloric Content) ที่ต่างกัน ซึ่งจะต้องแปลงมาเป็นหน่วยเทียบเท่าค่าความร้อน เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบกันได้ โดยใช้ค่าการแปลงหน่วย (Conversion Factor) ที่เป็นปริมาณการให้พลังงานสุทธิของพลังงานชนิดนั้นๆ ในกรณีที่โภคภัณฑ์พลังงานที่ใช้ในประเทศมีการกำหนดค่าการแปลงหน่วยสำหรับใช้คำนวณ ให้ใช้ค่าการแปลงหน่วยนั้น หากไม่มีการกำหนดเป็นการเฉพาะ ให้ใช้ค่าโดยปริยาย (Default Value) แทน13

การแสดงตัวเลขปริมาณการใช้พลังงานทดแทน ควรจำแนกตามหน่วยธุรกิจ แหล่งดำเนินงาน ประเทศ ชนิดแหล่งที่มา (แหล่งที่มีทดแทน แหล่งที่ใช้แล้วหมดไป) และชนิดกิจกรรม

การแสดงตัวเลขที่ปรับบรรทัดฐาน (Normalize) ของปริมาณการใช้พลังงานทดแทน ให้นำยอดรวมที่มีหน่วยเป็น จูล หารด้วยมูลค่าเพิ่มสุทธิ (ตัวชี้วัด A.1.3 ที่มีหน่วยเป็นบาท) ในรอบการรายงานเดียวกัน โดยมีหน่วยที่รายงานเป็น จูลต่อบาท

กิจการควรแสดงความเปลี่ยนแปลงหรือความคืบหน้าในการดำเนินการตามตัวชี้วัด ด้วยการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานในรอบการรายงานปัจจุบัน (t) เทียบกับผลการดำเนินงานในรอบการรายงานก่อนหน้า (t-1) เพื่อเฝ้าติดตามระดับความก้าวหน้าในการดำเนินงานของกิจการระหว่างรอบการรายงาน14

--------------------------------------
10 ดูข้อมูลเพิ่มเติมของแหล่งกำเนิดพลังงานทดแทน ได้ที่ https://unstats.un.org/unsd/energy/ires/IRES-web.pdf
11 แหล่งพลังงานทดแทนที่ให้กำเนิดพลังงานไฟฟ้า ประกอบด้วย น้ำ ลม แสงอาทิตย์ (แบบใช้เซลล์แสง หรือ Photovoltaic และแบบใช้ความร้อน หรือ Solar Thermal) ความร้อนใต้พิภพ คลื่น น้ำขึ้นน้ำลง (Tide) และพลังงานทางทะเลอื่นๆ รวมทั้งการเผาไหม้เชื้อเพลิงชีวมวล ส่วนแหล่งพลังงานทดแทนที่ให้กำเนิดพลังงานความร้อน ได้แก่ แสงอาทิตย์ กระแสลมร้อน (Thermal) ความร้อนใต้พิภพ และการเผาไหม้เชื้อเพลิงชีวมวล.
12 ตามรายการเปิดเผยข้อมูล GRI 302-1 แหล่งเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วหมดไป นับรวมเชื้อเพลิงสำหรับการเผาไหม้ในระบบหม้อไอน้ำ (Boiler) เตาหลอม (Furnace) เครื่องทำความร้อน (Heater) กังหัน (Turbine) ก๊าซทิ้งที่ปล่อง (Flare) เตาเผา (Incinerator) เครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) และพาหนะ (Vehicle) ที่กิจการเป็นเจ้าของหรือครอบครอง รวมทั้งเชื้อเพลิงที่จัดซื้อมาใช้ในองค์กร และที่ผลิตขึ้นหรือเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการในองค์กร อาทิ การทำเหมืองถ่านหิน ก๊าซจากการสกัดน้ำมันและการแยกก๊าซ.
13 ดูข้อมูลค่าการแปลงหน่วยเพิ่มเติม ได้จากเอกสาร A Manual for the Preparers and Users of Econ-efficiency Indicators, UNCTAD/ITE/IPC/2003/7, หน้า 34.
14 ในบางกรณี แหล่งพลังงานทดแทนที่กิจการนำมาใช้ อยู่ภายใต้การกำกับหรือเป็นวิสาหกิจของรัฐ ทำให้กิจการไม่สามารถกำหนดหรือวางแผนการเพิ่มปริมาณการใช้พลังงานทดแทนได้ตามต้องการ.

B.5.2 ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

ตัวเลขปริมาณการใช้พลังงานของกิจการ ต่อมูลค่าเพิ่มสุทธิ (ตัวชี้วัด A.1.3 ที่มีหน่วยเป็นบาท)

การคำนวณตัวเลขปริมาณการใช้พลังงานของกิจการ15 คิดจากปริมาณการใช้เชื้อเพลิงที่ใช้แล้วหมดไป (Non-renewable) + ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงทดแทน + ปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน ระบบระบายความร้อน และระบบไอน้ำ ทั้งที่ผลิตขึ้นใช้เองและที่จัดซื้อมาจากแหล่งภายนอก หักออกด้วยส่วนที่ขายหรือจำหน่ายออกไปภายนอก

ปริมาณการใช้เชื้อเพลิง มีหน่วยวัดเป็นจูล (Joule) หรือพหุคูณของหน่วยดังกล่าว ปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน ระบบระบายความร้อน และระบบไอน้ำ มีหน่วยวัดเป็นจูล (Joule) หรือ วัตต์-ชั่วโมง หรือพหุคูณของหน่วยดังกล่าว

โภคภัณฑ์พลังงานแต่ละชนิด จะมีปริมาณการให้พลังงาน (Caloric Content) ที่ต่างกัน ซึ่งจะต้องแปลงมาเป็นหน่วยเทียบเท่าค่าความร้อน เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบกันได้ โดยใช้ค่าการแปลงหน่วย (Conversion Factor) ที่เป็นปริมาณการให้พลังงานสุทธิของพลังงานชนิดนั้นๆ ในกรณีที่โภคภัณฑ์พลังงานที่ใช้ในประเทศมีการกำหนดค่าการแปลงหน่วยสำหรับใช้คำนวณ ให้ใช้ค่าการแปลงหน่วยนั้น หากไม่มีการกำหนดเป็นการเฉพาะ ให้ใช้ค่าโดยปริยาย (Default Value) แทน

การแสดงตัวเลขที่ปรับบรรทัดฐาน (Normalize) ของปริมาณการใช้พลังงาน ให้นำยอดรวมที่มีหน่วยเป็น จูล หารด้วยมูลค่าเพิ่มสุทธิ (ตัวชี้วัด A.1.3 ที่มีหน่วยเป็นบาท) ในรอบการรายงานเดียวกัน โดยมีหน่วยที่รายงานเป็น จูลต่อบาท

การแสดงข้อมูลตามตัวชี้วัดนี้ ควรจำแนกตามหน่วยธุรกิจ แหล่งดำเนินงาน ประเทศ ชนิดแหล่งที่มา (แหล่งพลังงานที่มีทดแทน แหล่งพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป) และชนิดกิจกรรม

--------------------------------------
15 ดูวิธีการคำนวณเพิ่มเติมจากรายการเปิดเผยข้อมูล GRI 302-1 และข้อมูลตัวชี้วัดนี้ ยังสอดคล้องกับรายการเปิดเผยข้อมูล GRI 302-3 ในส่วนที่กำหนดให้กิจการแสดงข้อมูลอัตราส่วนความเข้มข้นการใช้พลังงาน (Energy Intensity Ratio).

B.6 ที่ดินและความหลากหลายทางชีวภาพ
• B.6.1 การใช้ที่ดินผืนที่อยู่ชิดพื้นที่อ่อนไหวต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

ด้านสังคม
C.1 ความเสมอภาคระหว่างเพศ
C.1.1 สัดส่วนหญิงในตำแหน่งจัดการ

จำนวนของหญิงในตำแหน่งจัดการ ต่อจำนวนพนักงานรวมทั้งหมดในรอบการรายงาน โดยพิจารณาจากตัวเลขพนักงาน ณ วันสิ้นรอบการรายงาน แสดงเป็นรายหัว (Head Count) หรือเป็นค่าเทียบเท่าพนักงานเต็มเวลา (Full Time Equivalent: FTE)16 สำหรับกิจการที่มีการจ้างลูกจ้างชั่วคราว (Part-time Staff) จำนวนมาก แนะนำให้ใช้ค่า FTE และไม่ว่าในกรณีใด กิจการควรเลือกวิธีการรายงานในแต่ละรอบการรายงานให้คล้องจองกัน

ตำแหน่งจัดการ17 ตามตัวชี้วัดนี้ ได้แก่

หมวดย่อย 11 ผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการระดับอาวุโส และผู้บัญญัติกฎหมาย หมู่ 111 ผู้บัญญัติกฎหมายและข้าราชการระดับอาวุโส ประกอบด้วย ผู้บัญญัติกฎหมาย (1111) ข้าราชการระดับอาวุโส (1112) ผู้นำตามประเพณีและหัวหน้าหมู่บ้าน (1113) เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสขององค์การที่ดำเนินการเพื่อผลประโยชน์เฉพาะอย่าง (1114) หมู่ 112 กรรมการผู้จัดการและผู้บริหารระดับสูง ประกอบด้วย กรรมการผู้จัดการและผู้บริหารระดับสูง (1120)

หมวดย่อย 12 ผู้จัดการด้านการบริหารจัดการและการพาณิชย์ หมู่ 121 ผู้จัดการด้านการบริการธุรกิจและการบริหารจัดการ ประกอบด้วย ผู้จัดการด้านการเงิน (1211) ผู้จัดการด้านทรัพยากรบุคคล (1212) ผู้จัดการด้านนโยบายและแผน (1213) ผู้จัดการด้านการบริการธุรกิจและการบริหารจัดการ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น (1219) หมู่ 122 ผู้จัดการด้านการขาย การตลาด และการพัฒนาธุรกิจ ประกอบด้วย ผู้จัดการด้านการขายและการตลาด (1221) ผู้จัดการด้านโฆษณาและประชาสัมพันธ์ (1222) ผู้จัดการด้านวิจัยและพัฒนา (1223)

หมวดย่อย 13 ผู้จัดการด้านการผลิตและการบริการเฉพาะอย่าง หมู่ 131 ผู้จัดการด้านการผลิตในภาคการเกษตร การป่าไม้ และการประมง ประกอบด้วย ผู้จัดการด้านการผลิตในภาคการเกษตรและการป่าไม้ (1311) ผู้จัดการด้านการผลิตในภาคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการประมง (1312) หมู่ 132 ผู้จัดการด้านการผลิต เหมืองแร่ ก่อสร้าง และการจัดส่งสินค้า ประกอบด้วย ผู้จัดการด้านการผลิต (1321) ผู้จัดการด้านการทำเหมือง (1322) ผู้จัดการด้านการก่อสร้าง (1323) ผู้จัดการด้านการจัดหาและจัดส่งสินค้า (1324) หมู่ 133 ผู้จัดการด้านการบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ประกอบด้วย ผู้จัดการด้านการบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (1330) หมู่ 134 ผู้จัดการด้านการบริการวิชาชีพ ประกอบด้วย ผู้จัดการด้านการบริการดูแลเด็ก (1341) ผู้จัดการด้านการบริการสุขภาพ (1342) ผู้จัดการด้านการบริการดูแลผู้สูงอายุ (1343) ผู้จัดการด้านงานสังคมสงเคราะห์ (1344) ผู้จัดการด้านการศึกษา (1345) ผู้จัดการสาขาด้านการบริการทางการเงินและการประกันภัย (1346) ผู้จัดการด้านการบริการวิชาชีพ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น (1349)

หมวดย่อย 14 ผู้จัดการโรงแรม การค้า และการบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หมู่ 141 ผู้จัดการโรงแรมและภัตตาคาร/ร้านอาหาร ประกอบด้วย ผู้จัดการโรงแรม (1411) ผู้จัดการภัตตาคาร/ร้านอาหาร (1412) หมู่ 142 ผู้จัดการด้านการค้าปลีกและค้าส่ง ประกอบด้วย ผู้จัดการด้านการค้าปลีกและค้าส่ง (1420) หมู่ 143 ผู้จัดการด้านการบริการอื่นๆ ประกอบด้วย ผู้จัดการด้านการกีฬา นันทนาการ และศูนย์วัฒนธรรม (1431) ผู้จัดการด้านการบริการ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น (1439)

ทั้งนี้ กิจการอาจมีการใช้การจัดหมวดหมู่ในตำแหน่งจัดการที่ต่างออกไป จึงควรมีคำบรรยายประกอบที่สะท้อนให้เห็นบริบทของตัวชี้วัดนี้ อย่างไรก็ดี กิจการควรใช้การจัดหมวดหมู่ที่สอดคล้องกับโครงการ Evidence and Data for Gender Equality (EDGE) ที่ริเริ่มขึ้นร่วมกันโดยสำนักงานสถิติแห่งสหประชาชาติ (United Nations Statistics Division: UNSD) และองค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Entity for Gender Equality and the Empowerment of Women: UN Women)18

นอกจากตัวเลขสัดส่วนหญิงในตำแหน่งจัดการ กิจการควรรายงานสัดส่วนหญิงต่อแรงงานทั้งหมด (เป็นรายหัว หรือเป็นค่าเทียบเท่าพนักงานเต็มเวลา)19 รวมทั้งจำแนกตามเกณฑ์อื่นๆ ดังนี้
• ตามประเภทการจ้าง (พนักงาน และลูกจ้างประเภทจ้างเหมาแรงงาน20 )
• ตามสัญญาจ้าง (ประจำ21 หรือชั่วคราว22 )
• ตามชนิดการจ้าง (พนักงานเต็มเวลา หรือลูกจ้างชั่วคราว)
• ตามช่วงอายุ (ต่ำกว่า 30 ปี, ระหว่าง 30-50 ปี, มากกว่า 50 ปีขึ้นไป)
• ตามภูมิภาค (Region)

การให้รายละเอียดตามเกณฑ์ข้างต้น จะช่วยให้กิจการสามารถประเมินประเด็นด้านแรงงานที่มีความเกี่ยวโยงกับแรงงานเฉพาะกลุ่มนั้นๆ ได้

กิจการอาจมีการแสดงข้อมูลในมิติที่เกี่ยวกับความหลากหลาย (Diversity) ที่คำนึงถึงกลุ่มผู้ทุพพลภาพในสำนักงาน โดยไม่กระทบต่อความเป็นส่วนตัว หรือไม่ละเมิดข้อมูลส่วนตัวของพนักงาน

--------------------------------------
16 FTE คำนวณโดยใช้จำนวนชั่วโมงการทำงานรวมของทั้งลูกจ้างเต็มเวลาและลูกจ้างชั่วคราวในรอบการรายงาน หารด้วยจำนวนชั่วโมงการทำงานรวมของลูกจ้างเต็มเวลา.
17 อ้างอิงจากการจัดประเภทอาชีพตามมาตรฐานสากล (International Standard Classification of Occupations: ISCO), 2008.
18 ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://unstats.un.org/edge
19 ดูรายการเปิดเผยข้อมูล GRI 102-8 Information on employees and other workers เพิ่มเติม.
20 ลูกจ้างประเภทจ้างเหมาแรงงาน (Supervised Worker) คือ บุคคลที่ปฏิบัติงานและให้บริการแก่กิจการผู้รายงานโดยตรง แต่มีสัญญาจ้างงานอยู่กับกิจการอื่น
21 สัญญาจ้างประจำ (Permanent) หรือไม่กำหนดระยะเวลา เป็นสัญญาการจ้างงานประจำสำหรับพนักงานชนิดเต็มเวลา หรือลูกจ้างชั่วคราว โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาการจ้าง.
22 สัญญาจ้างชั่วคราว (Temporary) หรือกำหนดระยะเวลา เป็นสัญญาจ้างที่หมดอายุ ณ วันสิ้นสุดการจ้างตามที่กำหนดไว้ในสัญญา หรือเมื่องานที่ตกลงให้ทำตามกรอบเวลาที่กำกับไว้ แล้วเสร็จ.

C.2 ทุนมนุษย์
C.2.1 ชั่วโมงเฉลี่ยการฝึกอบรมต่อปีต่อคน

มาตราส่วนการลงทุนของกิจการในการฝึกอบรมพนักงาน (ในทุนด้านมนุษย์) และระดับความเข้มข้นของการลงทุนที่มีต่อฐานพนักงานทั้งหมด ในรูปของชั่วโมงการฝึกอบรม

จำนวนชั่วโมงฝึกอบรมในรอบการรายงาน นับรวมหลักสูตรฝึกอบรมที่จัดทั้งในและนอกองค์กร การเรียนการสอนที่กิจการเป็นผู้สนับสนุน ช่วงการลาไปเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ (Sabbatical Period) โดยยังคงสถานภาพการจ้าง (และกิจการให้การสนับสนุน อาทิ การคงจ่ายค่าจ้างระหว่างการลาศึกษา) รวมทั้งการฝึกอบรมเฉพาะทาง เช่น ด้านสุขภาพและความปลอดภัย

ตัวหารที่นำมาคำนวณ ควรใช้ตัวเลขรายหัว (Head Count) หรือค่าเทียบเท่าพนักงานเต็มเวลา (Full Time Equivalent: FTE) โดยให้มีความคล้องจองกันทั้งในและระหว่างรอบการรายงาน และข้อมูลที่แสดง ควรจำแนกตามประเภทพนักงานและมิติหญิงชาย (ดูคำอธิบายในตัวชี้วัด C.1.1)
ชั่วโมงการฝึกอบรมเฉลี่ยต่อพนักงาน เท่ากับ ชั่วโมงฝึกอบรมทั้งหมดที่จัดหาให้แก่พนักงาน หารด้วย จำนวนพนักงานทั้งหมด

สำหรับการคำนวณตามเกณฑ์จำแนกประเภทพนักงาน สามารถแสดงได้ ดังนี้
ชั่วโมงการฝึกอบรมเฉลี่ยต่อประเภทพนักงาน เท่ากับ ชั่วโมงฝึกอบรมทั้งหมดที่จัดหาให้แก่พนักงานแต่ละประเภท หารด้วย จำนวนพนักงานทั้งหมดในประเภทนั้น

กรณีที่เป็นกิจการข้ามชาติ ควรเปิดเผยจำนวนชั่วโมงของการฝึกอบรม จำแนกตามประเทศ23 และมิติหญิงชาย

--------------------------------------
23 สอดคล้องกับรายการเปิดเผยข้อมูล GRI 404-1 และ GRI 404-2.

C.2.2 รายจ่ายการฝึกอบรมพนักงานต่อปีต่อคน

มาตราส่วนการลงทุนของกิจการในการฝึกอบรมพนักงาน (ในทุนด้านมนุษย์) และระดับความเข้มข้นของการลงทุนที่มีต่อฐานพนักงานทั้งหมด ในรูปของรายจ่ายค่าฝึกอบรม

รายจ่ายค่าฝึกอบรม นับรวมค่าใช้จ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ ค่าธรรมเนียมหลักสูตร ค่าวิทยากร ค่าสถานที่ ค่าอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายเดินทาง

ตัวหารที่นำมาคำนวณ ควรใช้ตัวเลขรายหัว (Head Count) หรือค่าเทียบเท่าพนักงานเต็มเวลา (Full Time Equivalent: FTE) โดยให้มีความคล้องจองกันทั้งในและระหว่างรอบการรายงาน และข้อมูลที่แสดง ควรจำแนกตามประเภทพนักงานและมิติหญิงชาย (ดูคำอธิบายในตัวชี้วัด C.1.1)
รายจ่ายการฝึกอบรมเฉลี่ยต่อพนักงาน เท่ากับ ค่าใช้จ่ายฝึกอบรมทั้งหมดที่จัดหาให้แก่พนักงาน หารด้วย จำนวนพนักงานทั้งหมด

สำหรับการคำนวณตามเกณฑ์จำแนกประเภทพนักงาน สามารถแสดงได้ ดังนี้
รายจ่ายการฝึกอบรมเฉลี่ยต่อประเภทพนักงาน เท่ากับ ค่าใช้จ่ายฝึกอบรมทั้งหมดที่จัดหาให้แก่พนักงานแต่ละประเภท หารด้วย จำนวนพนักงานทั้งหมดในประเภทนั้น

กรณีที่เป็นกิจการข้ามชาติ ควรเปิดเผยรายจ่ายของการฝึกอบรม จำแนกตามประเทศ และมิติหญิงชาย

C.2.3 สัดส่วนค่าจ้างและสวัสดิการพนักงานต่อรายได้

ตัวเลขค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าแรงพนักงานทั้งหมดของกิจการในรอบการรายงาน จำแนกตามชนิดการจ้างและมิติหญิงชาย เทียบกับรายได้รวมของกิจการ24

ค่าจ้างและสวัสดิการพนักงาน คำนวณจาก เงินเดือนพนักงาน เงินที่จ่ายให้แก่รัฐในนามของพนักงาน และเงินสวัสดิการอื่นๆ (ไม่รวม ค่าฝึกอบรม ค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ป้องกันอันตรายหรือค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการทำหน้าที่ในตำแหน่งงานของพนักงานโดยตรง)

เงินที่จ่ายให้แก่รัฐ ประกอบด้วย เงินสมทบ เงินบำนาญ ภาษี เงินนำส่งรัฐ (Levies) กองทุนการจ้างงาน (Employment Fund) ฯลฯ

ตัวเลขรวมของค่าจ้างและสวัสดิการพนักงาน ควรรายงานจำแนกตามประเภทการจ้าง (พนักงานและลูกจ้างประเภทจ้างเหมาแรงงาน ) ตามสัญญาจ้าง (ประจำ หรือชั่วคราว ) ตามชนิดการจ้าง (พนักงานเต็มเวลาหรือลูกจ้างชั่วคราว) ตามช่วงอายุ (ต่ำกว่า 30 ปี, ระหว่าง 30-50 ปี, มากกว่า 50 ปีขึ้นไป) ตามภูมิภาค (Region) และตามมิติหญิงชาย

--------------------------------------
24 สอดคล้องกับรายการเปิดเผยข้อมูล GRI 201-1.

C.3 สุขภาพและความปลอดภัยพนักงาน
C.3.1 สัดส่วนรายจ่ายด้านสุขภาพและความปลอดภัยพนักงานต่อรายได้

ตัวเลขค่าใช้จ่ายรวมในด้านสุขภาพและความปลอดภัยที่กิจการมีต่อพนักงาน เทียบกับรายได้รวมของกิจการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน25 ที่เป็นประเด็นสำคัญในเรื่องความรับผิดชอบของกิจการ อันก่อให้เกิดผลกระทบต่อผลิตภาพและความไขว้เขวของฝ่ายบริหาร รวมทั้งบั่นทอนการพัฒนาทุนด้านมนุษย์ ตลอดจนเป็นเครื่องชี้ถึงการดำเนินงานและคุณภาพการจัดการที่ต่ำเกณฑ์

ตัวชี้วัดนี้ มีหน่วยเป็นร้อยละ โดยเป็นผลรวมค่าใช้จ่ายของรายการที่เป็นแผนการประกันที่เกี่ยวเนื่องกับอาชีวอนามัยและความปลอดภัย กิจกรรมดูแลสุขภาพที่กิจการให้การสนับสนุนทางการเงินโดยตรง และค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ใช้สำหรับประเด็นด้านสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เกี่ยวเนื่องกับอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในรอบการรายงาน เทียบกับรายได้รวมของกิจการ

กิจการสามารถใช้รายการตรวจสอบ (Check-list) ที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน26 เพื่อใช้เป็นแนวทางในการคำนวณค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับตัวชี้วัด ดังนี้
การออกแบบ การกำหนดที่ตั้ง ลักษณะโครงสร้าง การติดตั้ง การบำรุงรักษา การซ่อมแซม การดัดแปลงสถานที่ทำงาน และวิธีการในการเข้าและออกจากสถานที่ดังกล่าว
แสงสว่าง การระบายอากาศ ความเป็นระเบียบ และความสะอาดของสถานที่ทำงาน
อุณหภูมิ ความชื้น และการถ่ายเทอากาศในสถานที่ทำงาน
การออกแบบ การก่อสร้าง การใช้ การบำรุงรักษา การทดสอบ และการตรวจเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่อาจก่อให้เกิดอันตราย การอนุมัติ และการขนย้ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ดังกล่าว
การป้องกันภาวะกดดันที่เป็นอันตรายต่อร่างกายหรือทางจิตใจ อันเนื่องมาจากสภาพการทำงาน
การจัดการ การจัดวาง และการจัดเก็บสิ่งของที่มีน้ำหนักมากหรือวัตถุต่างๆ โดยใช้แรงกายหรือเครื่องจักร
การใช้ไฟฟ้า
การผลิต การบรรจุหีบห่อ การปิดฉลาก การขนส่ง การจัดเก็บและการใช้สสารและสารที่มีอันตราย การกำจัดของเสียและกากเหลือใช้ของสสารและสารดังกล่าว และการนำสสารหรือสารชนิดอื่นที่ไม่มีอันตรายหรือมีอันตรายน้อยกว่ามาใช้แทนตามความเหมาะสม
การคุ้มครองจากการแผ่รังสี
การป้องกันและการควบคุม และการคุ้มครองให้พ้นจากอันตรายจากการทำงาน อันเนื่องมาจากเสียงและการสั่นสะเทือน
การควบคุมบรรยากาศ และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ในสถานที่ทำงาน
การป้องกันและการควบคุมอันตรายจากความกดอากาศที่สูงและต่ำ
การป้องกันอัคคีภัยและการระเบิด และการดำเนินมาตรการต่างๆ ในกรณีที่เกิดอัคคีภัยและการระเบิด
การออกแบบ การผลิต การจัดหาวัตถุดิบ การใช้ การบำรุงรักษา และการทดสอบชุดป้องกันและอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล
การติดตั้งสุขภัณฑ์ สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการชำระล้าง สิ่งอำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนและเก็บชุดสวมใส่ การจัดหาน้ำดื่ม และสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสวัสดิการอื่นๆ ด้านความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน
การปฐมพยาบาล
การจัดทำแผนเตรียมรับกรณีฉุกเฉิน
การกำกับดูแลสุขภาพของคนงาน

จากความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของภาคบริการและลักษณะเฉพาะในตัวเอง ตัวชี้วัดนี้ ควรสะท้อนถึงการรายงานในประเด็นสุขภาพจิตและความเครียดด้วย

ส่วนประกอบของตัวชี้วัดนี้ เกี่ยวเนื่องกับรายการทั้งที่เป็นค่าใช้จ่ายดำเนินงาน (Operating Cost) อาทิ กิจกรรมดูแลสุขภาพที่กิจการให้การสนับสนุนทางการเงินโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นกรณีการรับความเสี่ยงไว้เอง (Self-insurance) หรือการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในการดูแลสุขภาพโดยกิจการเอง หรือค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลสุขภาพคนงาน และรายการที่เป็นรายจ่ายฝ่ายทุน (Capital Expenditure) อาทิ การลงทุนในอุปกรณ์ป้องกันการแผ่รังสี หรือชุดป้องกันอัคคีภัย

กรณีที่เป็นกิจการข้ามชาติ ควรเปิดเผยรายจ่ายด้านสุขภาพและความปลอดภัย จำแนกตามประเทศ

--------------------------------------
25 อุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน (Occupational Accident) เป็นการบาดเจ็บทางกายภาพ ซึ่งอาจรวมถึงประเด็นด้านสุขภาพจิตด้วย.
26 อ้างอิงจาก ข้อแนะฉบับที่ 164 เรื่องสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ค.ศ.1981 (พ.ศ.2524), ILO R164, II, 3.

C.3.2 ความถี่และอัตราการบาดเจ็บเนื่องจากการทำงาน

ตัวชี้วัดนี้ เกี่ยวข้องกับวันทำงานที่สูญเสียอันเนื่องมาจากโรค การบาดเจ็บ และอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน ในรอบการรายงาน27 ที่แสดงถึงประสิทธิผลของนโยบายด้านสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน และขีดความสามารถในการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นผลดีต่อการทำงาน ดีต่อสุขภาพ และมีความปลอดภัย

ความถี่การบาดเจ็บเนื่องจากการทำงาน นับจากจำนวนกรณีการบาดเจ็บที่เกิดใหม่ เทียบกับจำนวนชั่วโมงทำงานรวมของคนงานในรอบการรายงาน

อัตราการบาดเจ็บเนื่องจากการทำงาน28 เป็นการแสดงจำนวนวันที่สูญเสียทั้งหมด นับจากจำนวนชั่วโมงที่สูญเสีย เทียบกับจำนวนชั่วโมงทำงานรวมของคนงานในรอบการรายงาน

กิจการต้องระบุกำกับว่าเป็น วันปฏิทิน (Calendar Day) หรือวันทำการ (Scheduled Work Day) และเริ่มนับจำนวนวันที่สูญเสียเมื่อใด (เช่น ทันทีที่เกิดอุบัติเหตุ หรือ สามวันนับจากเกิดอุบัติเหตุ) จากความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของภาคบริการและลักษณะเฉพาะในตัวเอง ตัวชี้วัดนี้ ควรสะท้อนถึงการรายงานในประเด็นสุขภาพจิตและความเครียดด้วย

กรณีที่เป็นกิจการข้ามชาติ ควรเปิดเผยข้อมูลตามตัวชี้วัดนี้ จำแนกตามประเทศ และมิติหญิงชาย

--------------------------------------
27 การบาดเจ็บและอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน เป็นการบาดเจ็บทั้งที่ร้ายแรงและไม่ร้ายแรง ซึ่งเกิดจากการปฏิบัติงาน ส่วนโรคเนื่องจากการทำงาน เกิดจากลักษณะของกิจกรรมและสภาพแวดล้อมการทำงาน (อาทิ ความเครียด หรือการสัมผัสกับสารเคมีที่เป็นอันตรายอยู่เป็นประจำ) หรือเป็นผลมาจากการบาดเจ็บเนื่องจากการทำงาน.
28 ตัวชี้วัดนี้ สามารถคำนวณจากการนับจำนวนกรณีการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น เทียบกับจำนวนคนงานรวม.

C.4 ความคุ้มครองตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
C.4.1 ร้อยละของพนักงานที่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง

ตัวเลขอัตราส่วนจำนวนพนักงานที่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เทียบกับจำนวนพนักงานทั้งหมดในรอบการรายงาน29

ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เป็นข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หรือระหว่างนายจ้างหรือสมาคมนายจ้างกับสหภาพแรงงานเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งประกอบด้วยเงื่อนไขการจ้างหรือการทำงานกำหนดวันและเวลาทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการ การเลิกจ้าง หรือประโยชน์อื่น ของนายจ้างหรือลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน

ความตกลงมีได้ในหลายระดับ ตั้งแต่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดขึ้นในสถานประกอบการ (Workplace) ในระดับองค์กร (Organizational) ในระดับภูมิภาค (Regional) ในระดับประเทศ (National) หรือในรายสาขา (Sectoral) ซึ่งกิจการควรอ้างอิงแนวปฏิบัติในอนุสัญญาฉบับที่ 154 ว่าด้วยการร่วมเจรจาต่อรอง ค.ศ.1981 (พ.ศ.2524) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO)

ตัวชี้วัดนี้ คำนวณโดยพิจารณาจากตัวเลขพนักงาน ณ วันสิ้นรอบการรายงาน แสดงเป็นรายหัว (Head Count) หรือเป็นค่าเทียบเท่าพนักงานเต็มเวลา (Full Time Equivalent: FTE) และไม่ว่าในกรณีใด กิจการควรเลือกวิธีการรายงานในแต่ละรอบการรายงานให้คล้องจองกัน

นอกจากการแสดงตัวเลขร้อยละของพนักงานที่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง กิจการควรมีการชี้แจงกำกับ ในกรณีที่ข้อตกลงดังกล่าว มิได้เป็นไปตามความยินยอมของหน่วยงานผู้กำกับดูแล มิได้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของพนักงาน หรือมิได้บรรลุร่วมกันในหมู่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

--------------------------------------
29 สอดคล้องกับรายการเปิดเผยข้อมูล GRI 102-41.


ด้านสถาบัน
D.1 การเปิดเผยข้อมูลการกำกับดูแลของกิจการ
D.1.1 จำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการและอัตราการเข้าร่วมประชุม

ตัวเลขจำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการบริษัท และอัตราการเข้าร่วมประชุมของกรรมการบริษัท เป็นข้อมูลเชิงปริมาณที่สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิผลและสมรรถนะของกลไกการกำกับดูแลกิจการ

D.1.2 จำนวนและร้อยละของกรรมการหญิง

ตัวเลขจำนวนกรรมการหญิงในคณะกรรมการบริษัท และร้อยละของกรรมการหญิงในคณะกรรมการบริษัท30 เป็นข้อมูลเชิงปริมาณที่สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายในมิติหญิงชาย

--------------------------------------
30 สอดคล้องกับรายการเปิดเผยข้อมูล GRI 405-1.

D.1.3 ช่วงอายุของกรรมการ

ข้อมูลแสดงลักษณะเฉพาะของกรรมการบริษัทจำแนกตามช่วงอายุ31 (ต่ำกว่า 30 ปี, ระหว่าง 30-50 ปี, มากกว่า 50 ปีขึ้นไป) ความสมดุลด้านอายุในคณะกรรมการบริษัท มีความสำคัญต่อการตัดสินใจที่รอบด้าน อาทิ บริษัทเกิดใหม่ด้านเทคโนโลยี มักถูกวิพากษ์ว่า ถูกครอบงำโดยกรรมการรุ่นหนุ่มสาวที่ช่ำชองเรื่องเทคโนโลยี และมีความกล้าได้กล้าเสีย

--------------------------------------
31 สอดคล้องกับรายการเปิดเผยข้อมูล GRI 405-1.

D.1.4 จำนวนครั้งและอัตราการเข้าร่วมประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบ

ตัวเลขจำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ และอัตราการเข้าร่วมประชุมของกรรมการตรวจสอบ เป็นข้อมูลเชิงปริมาณที่สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิผล ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ของกลไกการกำกับดูแลกิจการ

D.1.5 ค่าตอบแทนรวมต่อกรรมการ

ตัวเลขค่าตอบแทนของกรรมการในรอบการรายงาน32 ทั้งกรรมการที่เป็นผู้บริหาร (Executive Director) และกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร (Non-executive Director: NED)

ค่าตอบแทนของกรรมการ ประกอบด้วย
ค่าตอบแทนคงที่ (Fixed pay) เช่น เงินเดือนประจำ (Base Salary)
ค่าตอบแทนผันแปร (Variable Pay) เช่น ค่าตอบแทนผลการบริหารที่จ่ายตามผลการดำเนินงานขององค์การ (Performance-based) ผลตอบแทนในรูปของการจัดสรรหุ้น (Equity-based) โบนัส และหุ้นด้อยสิทธิ (Deferred Share) หรือหุ้นที่ได้รับตามเงื่อนไข (Vested Share)
โบนัสตามสัญญาเริ่มงาน (Sign-on Bonus) หรือเงินตอบแทนจูงใจกรรมการใหม่ (Recruitment Incentive Payment)
เงินชดเชยเมื่อเลิกจ้าง (Termination Payment) เป็นเงินตอบแทนหรือผลประโยชน์ที่กรรมการได้รับเมื่อพ้นตำแหน่ง
เงินเรียกคืน (Clawback) เป็นเงินค่าตอบแทนที่ถูกเรียกคืน กรณีที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการจ้าง หรือผลงานไม่บรรลุเป้าหมายตามที่ตกลงไว้
เงินบำเหน็จเกษียณอายุ (Retirement Benefit)

--------------------------------------
32 สอดคล้องกับรายการเปิดเผยข้อมูล GRI 102-35.

D.2 ข้อปฏิบัติการต้านทุจริต
D.2.1 ค่าปรับจ่ายหรือค้างจ่ายเพื่อระงับข้อพิพาท

จำนวนเงินค่าปรับจ่ายหรือที่ค้างจ่าย อันเนื่องมาจากกรณีที่เกี่ยวเนื่องกับการทุจริต ที่ถูกกล่าวโทษโดยหน่วยงานกำกับดูแล และศาล ในรอบการรายงาน

การทุจริต33 หมายรวมถึง การให้สินบน (Bribery) ค่าอำนวยความสะดวก (Facilitation Payment) การฉ้อโกง (Fraud) การกรรโชก (Extortion) การสมรู้ร่วมคิด (collusion) และการฟอกเงิน (Money Laundering) รวมทั้งการเสนอหรือรับของกำนัล เงินยืม ค่าธรรมเนียม รางวัล หรือประโยชน์อื่นใด ด้วยเหตุจูงใจที่จะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดโดยมิชอบ ผิดกฎหมาย หรือทำผิดหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย (Breach of Trust) ตลอดจนการยักยอก (Embezzlement) การใช้อิทธิพลเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์อันมิชอบ (Trading in Influence) การใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิด (Abuse of Function) การร่ำรวยผิดปกติ (Illicit Enrichment) การปกปิดทรัพย์สินซึ่งได้มาภายหลังการกระทำความผิด (Concealment) และการขัดขวางกระบวนการยุติธรรม (Obstructing Justice)

การทุจริตก่อให้เกิดผลเกี่ยวเนื่องทางลบในหลายด้าน เช่น การทำลายสิ่งแวดล้อม การละเมิดสิทธิมนุษยชน การละเมิดประชาธิปไตย การจัดสรรการลงทุนที่ไม่เหมาะสม และการทำลายหลักนิติธรรม

ข้อมูลที่แสดงตามตัวชี้วัดนี้ เริ่มจากการระบุคำตัดสินและข้อตกลงยอมความทั้งหมดที่เกี่ยวกับกรณีฝ่าฝืนกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในรอบการรายงาน และรวมจำนวนค่าปรับจ่าย/ค้างจ่ายในแต่ละกรณี เข้าเป็นยอดรวมตัวเลขจำนวนเงินที่จะแสดงตามตัวชี้วัด ควบคู่กับตัวเลขจำนวนกรณีทุจริตที่เกิดขึ้น

--------------------------------------
33 สอดคล้องกับรายการเปิดเผยข้อมูล GRI 205.

D.2.2 ชั่วโมงเฉลี่ยการฝึกอบรมในประเด็นการต้านทุจริตต่อปีต่อคน

ตัวเลขจำนวนชั่วโมงเฉลี่ยการฝึกอบรมในประเด็นการต้านทุจริตที่พนักงานได้รับในรอบการรายงาน หลักสูตรฝึกอบรมในประเด็นการต้านทุจริต ให้นับรวมการฝึกอบรมที่เกี่ยวกับจรรยาบรรณ (Code of Conduct) ที่ใช้แก้ไขหรือทุเลาความเสียหายหลังการตัดสิน ทั้งนี้ กิจการควรให้ข้อมูลถึงสิ่งที่ดำเนินการในการตอบสนองต่อกรณีทุจริตที่เกิดขึ้น เช่น การจัดทำและทบทวนนโยบาย การฝึกอบรม และความริเริ่มในการป้องกันเหตุทุจริต

ตัวหารที่นำมาคำนวณ ควรใช้ตัวเลขรายหัว (Head Count) หรือค่าเทียบเท่าพนักงานเต็มเวลา (Full Time Equivalent: FTE) โดยให้มีความคล้องจองกันทั้งในและระหว่างรอบการรายงาน และข้อมูลที่แสดง ควรจำแนกตามประเภทพนักงานและมิติหญิงชาย (ดูคำอธิบายในตัวชี้วัด C.1.1)
ชั่วโมงการฝึกอบรมเฉลี่ยต่อพนักงาน เท่ากับ ชั่วโมงฝึกอบรมในประเด็นการต้านทุจริตทั้งหมดที่จัดหาให้แก่พนักงาน หารด้วย จำนวนพนักงานทั้งหมด

สำหรับการคำนวณตามเกณฑ์จำแนกประเภทพนักงาน สามารถแสดงได้ ดังนี้
ชั่วโมงการฝึกอบรมเฉลี่ยต่อประเภทพนักงาน เท่ากับ ชั่วโมงฝึกอบรมทั้งหมดในประเด็นการต้านทุจริตที่จัดหาให้แก่พนักงานแต่ละประเภท หารด้วย จำนวนพนักงานทั้งหมดในประเภทนั้น

กรณีที่เป็นกิจการข้ามชาติ ควรเปิดเผยจำนวนชั่วโมงของการฝึกอบรมในประเด็นการต้านทุจริต จำแนกตามประเทศ และมิติหญิงชาย



วีดิทัศน์: Core Indicators