Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

Corporate Social Responsibility (CSR)


ใครสนใจผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders)
คืออะไรความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (หรือที่เรียกว่า บรรษัทบริบาล) เป็นกลไกการดำเนินงานของกิจการที่เกี่ยวโยงกับผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร ภายใต้จุดมุ่งหมายที่ต้องการดูแลผลกระทบจากการดำเนินงานที่จะเกิดแก่ผู้มีส่วนได้เสียของกิจการอย่างเป็นธรรม นอกเหนือจากสิทธิที่ผู้มีส่วนได้เสียพึงได้รับตามกฎหมาย รวมถึงการใช้ขีดความสามารถทางธุรกิจในการสร้างคุณค่าร่วมให้แก่สังคม ตลอดจนการสงเคราะห์ช่วยเหลือส่วนรวมตามกำลังและความสามารถของกิจการ อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของกิจการในระยะยาว

กระแส CSR ในเมืองไทย ได้ถูกจุดประกายขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในปี พ.ศ.2549 และได้ถูกบรรจุเป็นแนวปฏิบัติที่ผนวกเข้ากับการดำเนินธุรกิจ โดยคณะทำงานส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทจดทะเบียน ในสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้จัดทำคู่มือช่วยบอกพิกัดการดำเนินงานที่มีเป้าหมายด้านธุรกิจควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคม ในชื่อว่า ”เข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม” (Corporate Social Responsibility Guidelines) ในปี พ.ศ.2551 เพื่อปรับทิศทางการขับเคลื่อนโดยเน้นให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการทางธุรกิจ (CSR-in-process) นอกเหนือจากการบริจาค หรือการอาสาช่วยเหลือสังคม ซึ่งเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่นอกกระบวนการทางธุรกิจ หรือที่เกิดขึ้นภายหลัง (CSR-after-process)

ในเข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม ฉบับปี พ.ศ.2551 ได้มีการให้แนวปฏิบัติในเรื่อง CSR ไว้ 8 หมวด ได้แก่ การกำกับดูแลกิจการที่ดี การประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม การเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมและการเผยแพร่นวัตกรรมจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม การจัดทำรายงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

ในปี พ.ศ.2553 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้ออกมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ Social Responsibility Guidance Standard มอก. 26000 - 2553 ที่ล้อกับมาตรฐาน ISO 26000 : 2010 ซึ่งหน่วยงานและกิจการทุกประเภท ไม่เฉพาะองค์กรธุรกิจ สามารถนำแนวทางของ มอก. 26000 ไปใช้ปฏิบัติได้

มาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ฉบับดังกล่าว ประกอบด้วยสิ่งที่องค์กรควรดำเนินการใน 6 หัวข้อหลัก (Core subjects) ได้แก่

หัวข้อหลัก 1ธรรมาภิบาล (Organizational governance)
หัวข้อหลัก 2สิทธิมนุษยชน (Human rights)
หัวข้อหลัก 3การปฏิบัติด้านแรงงาน (Labor practices)
หัวข้อหลัก 4สิ่งแวดล้อม (The environment)
หัวข้อหลัก 5การปฏิบัติที่เป็นธรรม (Fair Operating practices)
หัวข้อหลัก 6ประเด็นด้านผู้บริโภค (Consumer issues)
หัวข้อหลัก 7การมีส่วนร่วมของชุมชนและการพัฒนาชุมชน (Community involvement and development)

แผนภาพ: 7 หัวข้อหลักด้านความรับผิดชอบต่อสังคม


7 หัวข้อหลักด้านความรับผิดชอบต่อสังคม


ต่อมาในปี พ.ศ.2555 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยคณะทำงานจัดทำและเผยแพร่ Guidelines for Social Responsibility และ Guidelines for CSR Report ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกลุ่มความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนามาตรฐานการเรียนการสอนและการวิจัยด้านการบริหารธุรกิจแห่งประเทศไทย (Thailand Consortium of Business Schools: TCOBS) ดำเนินการปรับปรุงแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ฉบับเข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม ให้ทันต่อเหตุการณ์ และได้ปรับแนวปฏิบัติเพิ่มเป็น 10 หมวด โดยแยกหมวดการเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม ออกเป็น 2 หมวด และยกเรื่องการต่อต้านการทุจริต ออกจากหมวดการประกอบกิจการด้วยความเป็นธรรม เพิ่มเป็นหมวดแยกต่างหากเพื่อเน้นความสำคัญตามวาระของการพัฒนาประเทศ

และในปี พ.ศ.2558 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ได้จัดทำยุทธศาสตร์การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ ที่เรียกย่อๆ ว่า ยุทธศาสตร์ CSR ชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2558-2560) ซึ่งผ่านการเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรี (เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558) โดยสาระสำคัญของยุทธศาสตร์มี 5 ด้าน ประกอบด้วย 1) การสร้างวัฒนธรรมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ 2) การสร้างเอกภาพในการบริหารยุทธศาสตร์การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ 3) การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคธุรกิจ 4) การรวมพลังเพื่อพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อมและสร้างความมั่นคงของมนุษย์ และ 5) การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจระหว่างประเทศ

ยุทธศาสตร์ฉบับนี้ มุ่งส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจเพื่อการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ด้วยการรวมพลังของทุกภาคส่วน โดยหนึ่งในชุดกลยุทธ์ที่สำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจในทุกสาขาและทุกขนาด เกิดกระบวนการพัฒนาและยกระดับความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งในกระบวนการ (CSR-in-process) และนอกกระบวนการของการดำเนินงาน (CSR-after-process) รวมทั้งสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการจัดทำรายงานความยั่งยืน (ภาคบังคับ) และส่งเสริมให้บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กมีการประเมินตนเอง (ภาคสมัครใจ) โดยใช้คู่มือตรวจสุขภาพธุรกิจด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (Check list)

เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างแผนของรัฐบาล หลังจากที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ประกาศใช้ แผน CSR ฉบับต่อมา ได้ปรับชื่อเป็น แผนปฏิบัติการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2561-2565) และฉบับปรับปรุง (พ.ศ.2563-2565) ถือเป็นแผนระดับสามโดยดำเนินการตามกรอบแนวทางการเสนอแผนของประเทศ ประกอบด้วย 4 แผนงาน ได้แก่ 1) การสร้างความตระหนักรู้ในความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ 2) การสนับสนุนการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 3) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 4) การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจระหว่างประเทศ

และในปี พ.ศ.2565 แผนปฏิบัติการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2566-2570) ได้ถูกจัดทำขึ้น โดยมี 4 แผนงาน ประกอบด้วย 1) การสนับสนุนการสร้างกลไกการทำงานของศูนย์ CSR จังหวัดที่เข้มแข็งทั่วประเทศ 2) การสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ 3) การเสริมสร้างแรงจูงใจในการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ และ 4) การบูรณาการศักยภาพภาคีเครือข่ายขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

อนึ่ง การริเริ่มดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลนั้น สิ่งสำคัญพื้นฐานที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นก่อน คือ ความรู้ความเข้าใจเรื่อง CSR ที่ถูกต้องตรงกัน โดยเฉพาะเรื่องขอบเขตของ CSR ที่มักเข้าใจไปคนละทิศละทาง องค์กรหลายแห่งยังเห็นว่า CSR คือ เรื่องที่ธุรกิจทำประโยชน์ให้สังคมในรูปของกิจกรรมเพื่อสังคมโดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานทางธุรกิจ ซึ่งความจริงแล้ว ความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการทางธุรกิจ มีความสำคัญและสร้างผลกระทบสูงกว่าการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม

CG กับ CSR เหมือนหรือต่างกัน



ตำแหน่งของ CSR ในมณฑลแห่งความยั่งยืน