Creating Shared Value (CSV)
ใครสนใจ | ฝ่ายบริหาร (Management) |
คืออะไร | การสร้างคุณค่าร่วม (CSV) เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ผสานการดำเนินงานเพื่อสร้างให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงพาณิชย์ ควบคู่กับผลประโยชน์ที่สังคมกลุ่มเป้าหมายได้รับ ก่อให้เกิดเป็นความสำเร็จทางธุรกิจและความก้าวหน้าทางสังคมไปพร้อมกัน |
นับตั้งแต่ที่ ไมเคิล อี พอร์เตอร์ ได้นำเสนอแนวคิดเรื่อง Creating Shared Value (CSV) ร่วมกับ มาร์ค อาร์ เครเมอร์ ในปี พ.ศ.2554 ว่าเป็นบทบาทของภาคธุรกิจที่จะร่วมพัฒนาสังคมด้วยการนำทรัพยากรและความเชี่ยวชาญหลักขององค์กรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างองค์กรและสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน ทำให้ในปัจจุบัน มีองค์กรที่ขานรับเอาแนวคิดดังกล่าวไปใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกสาขาธุรกิจ
• ภาพ: ศ.ไมเคิล อี พอร์เตอร์ และ มาร์ค อาร์ เครเมอร์
พอร์เตอร์ และเครเมอร์ ชี้ให้เห็นว่าการสร้างคุณค่าร่วม มีบทบาทสำคัญในฐานะที่จัดเป็นกลยุทธ์องค์กร (Corporate Strategy) ที่มิได้ใช้เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งประสิทธิผลของการดำเนินงาน (Operation Effectiveness) หรือการดำเนินงานขององค์กรที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ แต่เป็นการกำหนดจุดยืนทางกลยุทธ์ (Strategic Positioning) ที่เป็นการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งขัน ทำให้การสร้างคุณค่าร่วมเป็นกลยุทธ์ที่ไม่สามารถพัฒนาขึ้นจากการลอกแบบ Best Practices ให้ทัดเทียมหรือดีกว่าที่องค์กรอื่นมีอยู่ได้
คุณลักษณะของ CSV จึงมิใช่การแบ่งปันหรือส่งมอบคุณค่าที่ได้เกิดขึ้นแล้วในรูปของการบริจาค หรือ Philanthropy เช่น การคืนกำไรสู่สังคมผ่านกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร แต่จะต้องมี ภาวะคู่กัน (Duality) ของคุณค่าที่เกิดขึ้นทั้งต่อองค์กรและสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน
ในการสร้างคุณค่าร่วม องค์กรจะต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก คือ ความท้าทายหรือโอกาสทางธุรกิจ ที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางธุรกิจในรูปของรายได้ ผลกำไร ส่วนแบ่งตลาด การสร้างตลาดใหม่ การลดค่าใช้จ่ายหรือลดความสูญเสียในด้านต่างๆ
ประการที่สอง คือ โจทย์หรือประเด็นปัญหาทางสังคมที่อยู่ในความสนใจขององค์กร ซึ่งนำไปสู่การสร้างผลลัพธ์ทางสังคมในรูปของการพัฒนา การแก้ไขเยียวยา การยกระดับคุณภาพชีวิต การรักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม การลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างโอกาสหรือความเป็นธรรมทางสังคมในด้านต่างๆ
และประการที่สาม คือ การใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญและสินทรัพย์ที่องค์กรมีอยู่ อันนำมาซึ่งผลิตภาพที่ทำให้การส่งมอบผลลัพธ์ทั้งทางธุรกิจและทางสังคมมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลเต็มคุณค่า
ด้วยหลักเกณฑ์ข้อหลังนี้ ทำให้การสร้างคุณค่าร่วม กลายเป็นกลยุทธ์ที่สะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ขององค์กร และเมื่อได้ผสมผสานเข้ากับหลักเกณฑ์ที่หนึ่งและหลักเกณฑ์ที่สองด้วยแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะนำ Best Practices ขององค์กรอื่น มาใช้อ้างอิง
พอร์เตอร์ และเครเมอร์ เน้นย้ำว่าการสร้างคุณค่าร่วม เป็นกลยุทธ์ที่องค์กรใช้สร้างผลกำไรทางธุรกิจ ไปพร้อมกับการแก้ไขปัญหาทางสังคม ไม่ใช่การทำเพื่อการกุศลหรือตั้งข้อรังเกียจการทำเพื่อกำไรแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่สังคมได้รับจากรูปแบบดังกล่าว มิใช่การจัดสรรปันส่วนใหม่ (Re-distribute) ที่ทำให้ธุรกิจได้รับประโยชน์น้อยลงจากเดิม แต่เป็นการเพิ่มผลิตภาพในห่วงโซ่คุณค่า การปรับรื้อช่องทางการจัดจำหน่าย การสร้างนวัตกรรมและการใช้เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มคุณค่ามวลรวมให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง
• CSV กับ SE เหมือนหรือต่างกัน?
ดาวน์โหลดหนังสือ "กลยุทธ์ธุรกิจคู่สังคม: Creating Shared Value (CSV) ความหนา 27 หน้า เอกสารตั้งต้นสำหรับองค์กรในการทำความเข้าใจเรื่องการสร้างคุณค่าร่วมตามแนวทางของไมเคิล อี พอร์เตอร์ และ มาร์ค เครเมอร์ เจ้าของแนวคิด CSV ฉบับต้นตำรับ โดยทีมที่ปรึกษาของสถาบันไทยพัฒน์ซึ่งผ่านการอบรมและได้รับการรับรองให้เป็น Certified Shared Value Consultant จาก Shared Value Initiative (ข้อมูลเพิ่มเติม) |
ไมเคิล พอร์เตอร์ (คนขวา) และ มาร์ค เครเมอร์ (คนซ้าย)