Social Enterprise (SE)
ใครสนใจ | ผู้ประกอบการสังคม (Social Entrepreneur) |
คืออะไร | วิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นกิจการที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาสังคมเป็นหลัก และมีการแสวงหากำไรเป็นเรื่องรอง โดยกำไรที่ได้รับส่วนใหญ่จะนำไปขยายหรือลงทุนต่อในกิจการหรือโครงการเพื่อสังคม และกำไรบางส่วนปันกลับคืนให้เจ้าของ |
บทบาทของผู้ประกอบการที่มีต่อสังคม นอกจากจะเป็นไปภายใต้องค์กรธุรกิจเดิมที่ประกอบการอยู่ ด้วยการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม ในรูปของกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR-after-process) ที่อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานทางธุรกิจ หรืออยู่ในรูปของความรับผิดชอบในกระบวนการ (CSR-in-process) ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในห่วงโซ่ธุรกิจ ผู้ประกอบการยังสามารถก่อตั้งหน่วยงานขึ้นใหม่ แยกต่างหากจากธุรกิจปกติที่ดำเนินอยู่ ในรูปของกิจการเพื่อสังคม เพื่อดำเนินงานที่ยังประโยชน์ให้แก่สังคมตลอดทั้งกระบวนการ (CSR-as-process)
หนึ่งในรูปแบบของกิจการเพื่อสังคม จำพวก CSR-as-process ได้แก่ วิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งจัดเป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาสังคมเป็นหลัก มีรูปแบบเป็นได้ทั้งองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร (Non-Profit) และที่แสวงหากำไร (For-Profit) ทั้งนี้ กำไรส่วนใหญ่จะต้องนำไปขยายหรือลงทุนต่อในกิจการหรือโครงการเพื่อสังคม โดยที่กำไรบางส่วนปันกลับคืนแก่เจ้าของได้
ตัวอย่างของกิจการที่มีอยู่แล้วแต่เดิม และจัดอยู่ในข่ายนี้ ได้แก่ มูลนิธิ องค์กรสาธารณประโยชน์ องค์กรภาคประชาชน ซึ่งเป็นองค์กรที่ดำเนินงานโดยไม่แสวงหากำไรให้แก่ตนเอง แต่มีพันธกิจที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง
อย่างไรก็ดี กิจการเพื่อสังคมในความหมายเต็มของ CSR-as-process นั้น มีข้อแตกต่างจากหน่วยงานที่เรียกตัวเองว่า องค์กรที่ไม่มีวัตถุประสงค์หากำไร (Non-Profit Organization) ตรงที่หน่วยงานที่ไม่หากำไร อาจอยู่ในสภาพที่ไม่มีกำไรให้ทั้งแก่ตนเองและแก่สังคม อันเนื่องมาจากการขาดกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ
แต่สถานะของกิจการเพื่อสังคม ในที่นี้เกิดจากการผสมผสานอุดมการณ์ในแบบนักพัฒนาสังคมเข้ากับการบริหารจัดการในแบบผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นการผนวกจุดแข็งระหว่างแผนงานของภาคประชาสังคมกับกระบวนการที่มีประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ในอันที่จะสร้างให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมโดยรวม
ขณะเดียวกัน กิจการก็สามารถอยู่รอดได้ด้วยการพึ่งพาการดำเนินงานของตนเอง แทนการสนับสนุนจากแหล่งทุนภายนอกหรือได้รับการอุดหนุนจากภาษีที่มาจากประชาชน เรียกว่า เป็นองค์กรที่หากำไรให้แก่สังคม (Social Profit Organization) โดยที่เจ้าของกิจการเหล่านี้ มักเรียกตัวเองว่า ผู้ประกอบการสังคม (Social Entrepreneur)
วิธีคิดของผู้ประกอบการสังคม คือ แทนที่จะผลิตสินค้าหรือสร้างบริการที่ตอบสนองต่อกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในแบบธุรกิจหากำไรทั่วไป ก็ปรับเป็นการออกแบบสินค้าหรือบริการของตน ให้ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนหรือสังคมกลุ่มเป้าหมาย หรือตอบสนองต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเด็นที่ตนเองต้องการเข้าไปแก้ไขและพัฒนา
และแทนที่จะกำหนดส่วนตลาด (Market Segment) ที่เป็นกลุ่มลูกค้าทั่วไปในแบบธุรกิจปกติ ก็พิจารณาให้น้ำหนักในส่วนตลาดที่ยังมิได้รับการตอบสนอง (Unserved Market) หรือที่ยังตอบสนองได้ไม่เต็มที่ (Underserved Market) เช่น การออกแบบและพัฒนาสินค้าและบริการตามกำลังซื้อของคนในระดับฐานราก เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือความจำเป็นขั้นพื้นฐาน
• แผนภาพ: ระดับความเข้มข้นในแสวงหากำไรของกิจการ
ในแผนภาพระดับความเข้มข้นในแสวงหากำไรของกิจการ ระหว่างขั้วของกิจการที่แสวงหากำไรทั่วไป กับขั้วของกิจการที่ไม่แสวงหากำไร มีกิจการพันธุ์ผสม 4 รูปแบบที่นำเอาข้อดีของการดำเนินงานทางธุรกิจและทางสังคมมาผสมผสานเข้าด้วยกัน
จากกิจการที่หวังกำไรในแบบเดิม (Traditional For-Profit) มาเป็นกิจการที่มีการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporation Practicing Social Responsibility) และธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม (Socially Responsible Business)
ขณะที่ กิจการไม่หวังกำไรในแบบเดิม (Traditional Nonprofit) มีการแปลงสภาพมาเป็นกิจการไม่หวังกำไรที่มีกิจกรรมหารายได้ (Nonprofit with Income-Generating Activities) และวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)
• อย่าสับสน CSR กับ Social Enterprise
ระดับความเข้มข้นในแสวงหากำไรของกิจการ1
--------------------------------------
1 ที่มา : http://www.4lenses.org/Setypology/se_in_context