Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

มณฑลแห่งความยั่งยืน


สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งเน้นงานส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ และร่วมขับเคลื่อนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ กับภาคธุรกิจเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง ได้ทำการประมวลแนวทางในการเสริมสร้างความยั่งยืนของกิจการ โดยบูรณาการแนวคิดสำคัญในด้านการกำกับดูแลกิจการ (CG) เรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) การสร้างคุณค่าร่วม (CSV) การพัฒนาที่ยั่งยืน (SD) วิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) และธุรกิจเพื่อสังคม (SB) นำมาอธิบายเชื่อมโยงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อย่างเป็นระบบ โดยเรียกรวมว่าเป็น มณฑลแห่งความยั่งยืน หรือ The Sphere of Sustainability


มณฑลแห่งความยั่งยืน

การกำกับดูแลกิจการ (CG) เป็นโครงสร้างและกระบวนการภายในกิจการ ที่จัดให้มีขึ้นสำหรับการกำหนดทิศทางและสอดส่องดูแลการปฏิบัติงานของกิจการให้มีความถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ เจริญรุดหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความเสียหายของกิจการ พร้อมกันกับความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมการเติบโตของกิจการอย่างมั่นคง (อ่านต่อ)

สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เป็นคำที่ถูกบัญญัติขึ้นใช้ในตลาดทุน โดยผู้ลงทุน เพื่อใช้ประเมินการดำเนินงานของกิจการที่เกี่ยวโยงกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งเอื้อให้ผู้ลงทุนสามารถคาดการณ์ถึงผลประกอบการในอนาคตของกิจการ (อ่านต่อ)

ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) เป็นกลไกการดำเนินงานของกิจการที่เกี่ยวโยงกับผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร ภายใต้จุดมุ่งหมายที่ต้องการดูแลผลกระทบจากการดำเนินงานที่จะเกิดแก่ผู้มีส่วนได้เสียของกิจการอย่างเป็นธรรม นอกเหนือจากสิทธิที่ผู้มีส่วนได้เสียพึงได้รับตามกฎหมาย รวมถึงการใช้ขีดความสามารถทางธุรกิจในการสร้างคุณค่าร่วมให้แก่สังคม ตลอดจนการสงเคราะห์ช่วยเหลือส่วนรวมตามกำลังและความสามารถของกิจการ อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของกิจการในระยะยาว (อ่านต่อ)

การสร้างคุณค่าร่วม (CSV) เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ผสานการดำเนินงานเพื่อสร้างให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงพาณิชย์ ควบคู่กับผลประโยชน์ที่สังคมกลุ่มเป้าหมายได้รับ ก่อให้เกิดเป็นความสำเร็จทางธุรกิจและความก้าวหน้าทางสังคมไปพร้อมกัน (อ่านต่อ)

การพัฒนาที่ยั่งยืน (SD) เป็นการพัฒนาที่สามารถสนองความต้องการที่จำเป็นของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่กระทบต่อขีดความสามารถในการสนองความต้องการที่จำเป็นของคนในรุ่นต่อไป (อ่านต่อ)

วิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) เป็นกิจการที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาสังคมเป็นหลัก และมีการแสวงหากำไรเป็นเรื่องรอง โดยกำไรที่ได้รับส่วนใหญ่จะนำไปขยายหรือลงทุนต่อในกิจการหรือโครงการเพื่อสังคม และกำไรบางส่วนปันกลับคืนให้เจ้าของ (อ่านต่อ)

ธุรกิจเพื่อสังคม (SB) เป็นรูปแบบการประกอบธุรกิจที่ตั้งอยู่บนความมุ่งประสงค์เดียว คือ การแก้ปัญหาสังคมด้วยวิถีทางที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ (อ่านต่อ)


สถาบันไทยพัฒน์ ได้เรียบเรียง 7 แนวทางดังกล่าว บรรจุไว้ในหนังสือ “มณฑลแห่งความยั่งยืน: The Sphere of Sustainability” เพื่อเป็นคู่มือในการไขความเข้าใจและความสัมพันธ์ระหว่างเรื่อง CG, ESG, CSR, CSV, SD, SE, SB อย่างเป็นระบบ มุ่งเน้นให้เกิดความเข้าใจต่อแนวคิดในเรื่องความยั่งยืนที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่ม และช่วยให้กิจการสามารถดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายปลายทางที่เป็นความยั่งยืนของกิจการในที่สุด


วีดิทัศน์: ไขความเข้าใจ Sphere of Sustainability