สร้างภาวะพร้อมผันให้องค์กร
ปี 2564 ไทยต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน ในด้านเศรษฐกิจ ผลพวงจากการระบาดของโควิดระลอกสามในประเทศ ทำให้ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ จะขยายตัวในกรอบร้อยละ 1.0-2.0 จากที่หดตัวร้อยละ -6.1 ในปีที่ผ่านมา (กนง., พ.ค. 64)
ในด้านสังคม หน่วยงาน Social Progress Imperative ผู้จัดทำดัชนีความก้าวหน้าทางสังคมใน 163 ประเทศทั่วโลก นับตั้งแต่ปี 2557 ได้ระบุว่า ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีคะแนนต่ำสุดด้านความทั่วถึง (Inclusiveness) ที่แสดงถึงความทัดเทียมในด้านเพศสภาพ การไม่เลือกปฎิบัติ อำนาจทางการเมือง และที่ได้คะแนนต่ำรองลงมาเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล (socialprogress.org, 2021)
ในด้านสิ่งแวดล้อม การปล่อย CO2 ของประเทศไทย ลดลงร้อยละ 9.2 จากการปล่อย CO2 ที่ลดลงในเกือบทุกสาขา ยกเว้นภาคอุตสาหกรรมที่มีการปล่อย CO2 เพิ่มขึ้น 6.3% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (สนพ., ม.ค. 64)
ปรากฏการณ์โควิด (COVID Effect) ได้ส่งผลกระทบไปยังทุกวงการ รวมทั้งภาคธุรกิจที่จำเป็นต้องมีการปรับการดำเนินธุรกิจให้รองรับกับวิถีปกติใหม่ ที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่อยู่ในปลายทางของห่วงโซ่ธุรกิจ และปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ส่งมอบวัตถุดิบหรือคู่ค้าที่เป็นต้นทางของห่วงโซ่ธุรกิจ
นอกจากเรื่องสุขภาพของบุคลากรที่จะต้องได้รับการดูแลป้องกันจากโรคโควิด-19 เรื่องสุขภาพองค์กร (Corporate Health) ได้กลายเป็นประเด็นสาระสำคัญที่ทุกองค์กรจะต้องคำนึงถึงนับจากนี้ และจะถูกใช้เป็นปัจจัยนำเข้าสำหรับการจัดวางกลยุทธ์องค์กรให้สอดรับกับการดำเนินธุรกิจในวิถีปกติใหม่ ซึ่งจะหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การปรับตัวสู่ภาวะปกติสืบเนื่องไปในระยะยาว (Resilience) ของกิจการ
จากการสำรวจของสถาบันไทยพัฒน์ ต่อประเด็นกลยุทธ์หลังโควิด: จาก ‘ฟื้นฟู’ สู่ ‘พร้อมผัน’ (Post-COVID Strategies: From ‘Recovery’ to ‘Resilience’) กับองค์กรจำนวน 43 แห่ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า สามในสี่ขององค์กรที่สำรวจ (74.4%) มีแผนเรื่อง Resilience แล้ว และกำลังดำเนินการในปีนี้ ที่เหลือราวหนึ่งในสี่ (25.6%) ยังไม่มีแผนในเรื่องดังกล่าว
ในบรรดาองค์กรที่มีแผน Resilience และกำลังดำเนินการ ได้มุ่งเน้นความสำคัญไปยังด้านพนักงานมากสุด (90.7%) รองลงมาคือ ด้านลูกค้า (58.1%) และด้านสิ่งแวดล้อม (53.5%) ตามลำดับ
ทั้งนี้ องค์กรที่ตอบแบบสำรวจกว่าสองในสาม (69.8%) ระบุว่า การมีแผน Resilience จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อองค์กรในการปรับตัวสู่การดำเนินธุรกิจในวิถีปกติใหม่ ขณะที่ ไม่ถึงหนึ่งในสามขององค์กรที่สำรวจ (30.2%) ระบุว่าเป็นประโยชน์ และไม่มีองค์กรใดจากการสำรวจที่ไม่เห็นประโยชน์จากการมีแผนในเรื่องดังกล่าว
องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล หรือ Global Reporting Initiative (GRI) ในฐานะผู้จัดทำมาตรฐานระดับโลกด้านความยั่งยืนสำหรับการเปิดเผยข้อมูล ได้เผยแพร่เอกสาร ข้อปฏิบัติทางธุรกิจด้านวัฒนธรรมสุขภาพ (Culture of Health Business Practices: COHBP) สำหรับให้กิจการผนวกประเด็นด้านสุขภาพ เข้ากับกลยุทธ์องค์กร เพื่อใช้ดำเนินงานหลังสถานการณ์โควิด
ข้อปฏิบัติทางธุรกิจด้านวัฒนธรรมสุขภาพ (COHBP) ฉบับดังกล่าว จำแนกออกเป็น 16 ข้อปฏิบัติ ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่
ด้านกลยุทธ์ ประกอบด้วย วัฒนธรรมสุขภาพ กิจกรรมทางการเมืองขององค์กรที่ต้องรับผิดชอบ ข้อปฏิบัติทางการตลาดที่ต้องรับผิดชอบ
ด้านนโยบายและสวัสดิการ ประกอบด้วย การส่งเสริมสุขภาพและความเปี่ยมสุข (Wellness) สิทธิลาป่วยและเพื่อดูแลครอบครัวโดยได้รับค่าจ้าง การประกันสุขภาพ ความเสมอภาค ความหลากหลายและความเป็นกลาง พื้นความรู้ทางการเงิน
ด้านแรงงานและสถานประกอบการ ประกอบด้วย เวลาทำงาน ความมั่นคงในตำแหน่งงาน การจ่ายค่าจ้าง อาชีวอนามัยและความปลอดภัย สภาพแวดล้อมทางกายภาพ
ด้านชุมชน ประกอบด้วย ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมชุมชน ทุนทางสังคมและความสมานฉันท์ การมีส่วนร่วมในชุมชน
ข้อปฏิบัติทางธุรกิจด้านวัฒนธรรมสุขภาพดังกล่าว สามารถใช้เป็นปัจจัยนำเข้าในการวิเคราะห์สารัตถภาพ (Materiality Analysis) เพื่อใช้กำหนดประเด็นสาระสำคัญด้านวัฒนธรรมสุขภาพที่องค์กรควรดำเนินการ ผนวกไว้ในกลยุทธ์องค์กร สำหรับรองรับการขับเคลื่อนธุรกิจวิถีปกติใหม่ และการเป็นองค์กรพร้อมผันในทุกสถานการณ์
[Original Link]