ปรับองค์กร - เปลี่ยนโลก
“ไม่มีแผนสำรอง เพราะเราไม่มีโลกสำรอง” (There is no Plan B, because we do not have a Planet B) เป็นคำกล่าวของนายบัน คี มูน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ (ค.ศ.2007-2016) ต่อสื่อมวลชนที่หน้าสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก เมื่อปี 2557
ในภาคธุรกิจ หากนำคำกล่าวนี้มาขยายความ คงจะหมายถึงว่า ถ้าธุรกิจมัวแต่สร้างความมั่งคั่งรุ่งเรือง โดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมและถูกทำลาย ไม่เพียงแต่ธุรกิจจะไม่มีความยั่งยืน เมื่อถึงเวลานั้น มนุษยชาติจะไม่มีที่ยืนที่อาศัยบนโลกใบนี้ด้วย
เหตุผลของการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคธุรกิจ จึงไม่ใช่เพื่อการทำให้กิจการมีความยั่งยืน เฉพาะองค์กร เพียงในความหมายที่แคบ แต่เป็นการทำให้ทั้งกิจการและสังคม (รวมถึงสิ่งแวดล้อม) มีความยั่งยืนดำเนินควบคู่กันไป
ที่ผ่านมา องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่มองประเด็นปัญหาทางสังคมว่าเป็นบทบาทของภาครัฐที่ต้องเป็นผู้แก้ไขดำเนินการ กิจการจึงมักแสดงออกด้วยการร่วมรับผิดชอบในรูปของความช่วยเหลือหรือการบริจาคเป็นครั้งคราวตามโอกาส
แต่กิจการที่ตระหนักว่า เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาที่องค์กรควรมีส่วนเข้าไปร่วมแก้ไข ระดับความรับผิดชอบต่อสังคมจะเพิ่มขึ้น เกิดสำนึกที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง กิจการในกลุ่มนี้จะมีการจัดสรรทรัพยากรสำหรับการแก้ไขปัญหา จัดการ ติดตาม ตรวจสอบ และรายงานผลการดำเนินการอย่างเป็นระบบ
ปัจจุบัน จะมีกิจการจำพวกหนึ่งมีมุมมองที่เปลี่ยนไปต่อประเด็นทางสังคมเหล่านั้น โดยแทนที่จะมองว่าเป็น “ปัญหา” แต่กลับมองว่าเป็น “โอกาส” ทางธุรกิจ กิจการกลุ่มนี้จึงมีการพัฒนากลยุทธ์องค์กร โดยใช้ประเด็นทางสังคมเหล่านั้น มาเป็น “โจทย์” ทางธุรกิจ
เท่ากับว่า หากกิจการตีโจทย์แตก จะมีทั้งผลได้ทางธุรกิจและผลลัพธ์ทางสังคมเกิดขึ้นควบคู่ไปพร้อมกัน เรียกว่า เป็นการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value) ให้กับทั้งธุรกิจและสังคมในคราวเดียว โดยไม่จำเป็นต้องให้ในรูปแบบความช่วยเหลือหรือการบริจาคตามหลัง
การเพิ่มความเป็นรูปธรรมในสร้างผลลัพธ์ทางสังคมที่วัดด้วยผลได้ทางธุรกิจ ก่อให้เกิดผลที่ติดตามมาหลายประการ
ประการแรก ทำให้องค์กรธุรกิจ เคลื่อนย้ายจุดสนใจที่มีต่อการสร้างผลลัพธ์ทางสังคม จากระดับโครงการนำร่องเพียงเพื่อให้ได้ภาพการดำเนินงานทางสังคม มาสู่ระดับกลยุทธ์การดำเนินงานทางธุรกิจ และจากส่วนตลาดที่ด้อยความสำคัญในสายตาของธุรกิจ กลายมาเป็นส่วนตลาดที่มีนัยสำคัญในวิถีของธุรกิจได้
ประการที่สอง ทำให้องค์กรธุรกิจ รื้อและสร้างความมุ่งประสงค์ (Purpose) ของกิจการขึ้นใหม่ จากเดิมที่มุ่งผลิตสินค้าและบริการเพียงเพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจ มาสู่การปรับสายผลิตเพื่อให้สินค้าและบริการของตนสามารถสนองตอบต่อประเด็นทางสังคมด้วย โดยท่ามกลางองค์กรที่คิดทำ เพียงเพื่อให้ได้ภาพพีอาร์ มากกว่าเรื่องเนื้อหา จะมีหลายองค์กรที่เริ่มหยั่งถึงความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับสังคม ได้รับผลบวกที่เป็นความผูกพันและแรงจูงใจให้กับบุคลากรที่ทำงานอยู่ รวมทั้งดึงดูดบุคลากรใหม่ที่มีฝีมือและศักยภาพ ให้เข้าร่วมงานกับองค์กร ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมที่เอื้อต่อการขยายขอบข่ายของธุรกิจ
ประการที่สาม ทำให้องค์กรธุรกิจ รื้อฟื้นและสร้างความสัมพันธ์ใหม่กับองค์กรไม่แสวงหากำไร หรือบรรดาเอ็นจีโอต่างๆ จากเดิมที่มองเพียงว่าเอ็นจีโอมีสถานะที่เล่นบทเป็นคู่กรณีหรือคู่ปรับกับธุรกิจ มาสู่การปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ที่เอ็นจีโอสามารถเป็นหุ้นส่วนหรือคู่หูร่วมดำเนินงาน
ประการที่สี่ ทำให้แวดวงตลาดทุนตื่นตัวหันมาให้ความสนใจลงทุนกับกิจการที่ใช้กลยุทธ์คุณค่าร่วม จากเดิมที่ผู้ลงทุนมีความกังขากับการพิจารณาจัดสรรเม็ดเงินลงทุนโดยใช้ปัจจัยทางสังคม ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องน้อยมากในการวิเคราะห์หลักทรัพย์ มาสู่การให้ความสำคัญในกิจการที่ยึดมั่นในความมุ่งประสงค์ใหม่ ที่แตกต่างจากการประชาสัมพันธ์หรือการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมทั่วไป และสามารถสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นได้โดยไม่มีสัดส่วนที่ตายตัว
ประการที่ห้า ทำให้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาเรื่องผลกระทบภายนอก (Externality) ที่เป็นต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของกิจการผู้ก่อผลกระทบ ซึ่งมิได้ถูกคำนวณรวมอยู่ในธุรกรรมทางเศรษฐศาสตร์ เพราะกิจการย่อมต้องเลือกเลือกแสวงหากำไรที่เพิ่มขึ้น และผลักภาระดังกล่าวให้แก่สังคม ส่งผลให้ต้นทุนหรือราคาสินค้าและบริการ ไม่ได้สะท้อนถึงค่าใช้จ่ายตามที่ควรจะเป็น ซึ่งความจริงอีกด้านหนึ่ง อาจเป็นเพราะกิจการนั้นๆ ต่างหาก ที่ดำเนินงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพตามที่ควรจะเป็น จึงได้มีของเสียหรือมลภาวะออกมาสู่ภายนอก โดยหากกิจการพัฒนาวิธีการที่สามารถบริหารทรัพยากรและจัดการกระบวนการผลิตหรือกระบวนการอื่นๆ ในธุรกิจ จนไม่มีของเสียหรือของเหลือทิ้ง (หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้) ต้นทุนในการจัดการผลกระทบสู่ภายนอกก็เป็นศูนย์ ในระยะยาว ธุรกิจจะมีกำไรเพิ่มขึ้น จากการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ และไม่จำเป็นต้องตัดสินใจในเชิง Trade-off อีกต่อไป
การสร้างคุณค่าร่วม จึงสามารถใช้เป็นแนวทางในการแก้โจทย์ความไม่เชื่อมโยงกันระหว่างความต้องการของสังคมและของธุรกิจ ซึ่งเป็นอุปสรรคและก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาในห้วงเวลาที่ผ่านมา และเป็นแนวทางที่สามารถใช้ปรับแนวการดำเนินงานขององค์กร เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโลกในทางที่ดีขึ้น
[Original Link]