Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

เปิดผลสำรวจ ESG ธุรกิจไทย ปี 65


ตามที่สถาบันไทยพัฒน์ ได้มีการสำรวจข้อมูลสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ เพื่อนำเสนอทิศทางและกระแสนิยมของการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานขององค์กรที่สำคัญ รวมถึงการวิเคราะห์สถานภาพการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการ โดยมีการจัดทำขึ้นเป็นเอกสารฉบับแรก ในปี พ.ศ.2561 และเผยแพร่เป็นรายงานชื่อว่า “The State of Corporate Sustainability” ประจำทุกสองปี

ในปี 2565 นี้ เนื้อหาหลักของรายงาน จะเป็นการประมวลความเคลื่อนไหวในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ที่น่าสนใจทั้งในระดับสากลและในไทย รวมทั้งความท้าทายของภาคธุรกิจต่อการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านมุมมองของการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของกิจการ

ผลสำรวจปี 65 ครอบคลุม 854 องค์กร
สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการสำรวจข้อมูลความยั่งยืนจากบริษัทจดทะเบียน 763 แห่ง กองทุนและองค์กรอื่นๆ อีก 91 ราย รวมทั้งสิ้น 854 ราย (เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่ทำการสำรวจ 826 ราย) พบว่า การเปิดเผยข้อมูลซึ่งมีสัดส่วนมากสุดอยู่ที่ด้านสังคม 56.03% ด้านสิ่งแวดล้อม 22.49% และด้านเศรษฐกิจ 21.48% ตามลำดับ

หากวิเคราะห์ข้อมูลกิจการที่สำรวจ จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า กิจการที่ได้คะแนนการดำเนินงาน ESG รวมสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ กิจการในกลุ่มทรัพยากร รองลงมาเป็นกิจการในกลุ่มธุรกิจการเงิน และกิจการในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ตามลำดับ

ESG Performance by Industry Group

สำหรับประเด็นความยั่งยืนที่มีการเปิดเผยสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ ผลเชิงเศรษฐกิจ 85.71% การจ้างงาน 62.88% อาชีวอนามัยและความปลอดภัย 52.69% ส่วนการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ภาคธุรกิจมีการเปิดเผยสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ เป้าหมายที่ 8 เศรษฐกิจและการจ้างงาน และเป้าหมายที่ 16 สังคมและความยุติธรรม ตามลำดับ

ไฮไลต์ผลสำรวจ ESG ที่น่าสนใจ
ตามผลการประเมินสถานภาพการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน หรือ ESG Disclosure จากกิจการที่ทำการสำรวจทั้งหมด 854 ราย พบว่า ในปี 2565 มีคะแนนรวมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.46 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีคะแนนรวมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.2 คะแนน (จากทั้งหมด 826 ราย)

คะแนนที่ได้มาจากด้านธรรมาภิบาลมากสุด รองลงมาเป็นด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาผลสำรวจโดยใช้ประเด็นความยั่งยืนที่อ้างอิงจากมาตรฐาน GRI (Global Reporting Initiative) พบว่า มีประเด็นที่เข้าใหม่ในสิบอันดับแรกที่กิจการเปิดเผย ได้แก่ เรื่องแรงงานเด็ก (20.02%) ส่วนประเด็นที่เคยอยู่ในสิบอันดับเมื่อปีที่แล้ว แต่ไม่อยู่ในปีนี้ ได้แก่ เรื่องความหลากหลายและโอกาสแห่งความเท่าเทียม (Diversity and Equal Opportunity)

ขณะที่การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยปัจจัย ESG ที่อ้างอิงตามแนวทางและชุดตัวชี้วัดของ WFE (World Federation of Exchanges) จากผลสำรวจพบว่า มีประเด็นที่เข้าใหม่ในสิบอันดับแรกที่กิจการเปิดเผย ได้แก่ ยอดการใช้พลังงาน (31.38%) และการใช้น้ำ (29.16%) ส่วนประเด็นที่เคยอยู่ในสิบอันดับเมื่อปีที่แล้ว แต่ไม่อยู่ในปีนี้ ได้แก่ การดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Operations) และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy)

และเมื่อสำรวจข้อมูลการดำเนินงานที่มีการตอบสนองต่อ SDGs ตามแนวทาง GCI (Guidance on Core Indicators) ที่จัดทำโดย ISAR (International Standards of Accounting and Reporting) พบว่า มีประเด็นที่เข้าใหม่ในสิบอันดับแรกที่กิจการเปิดเผย ได้แก่ ประสิทธิภาพการใช้น้ำ (27.4%) ส่วนประเด็นที่เคยอยู่ในสิบอันดับเมื่อปีที่แล้ว แต่ไม่อยู่ในปีนี้ ได้แก่ การลงทุนชุมชน (Community Investment)

นอกจากนี้ ในผลสำรวจด้านการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พบว่า มีกิจการเพียงหนึ่งในสี่จากการสำรวจ ที่มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว โดยยอดรวมของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ขอบเขตที่ 1 และขอบเขตที่ 2) ในองค์กรที่เปิดเผยข้อมูล (20.73%) มีปริมาณ 384.41 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า

ขณะที่ ปริมาณคาร์บอนเครดิตสะสม ภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 จนถึงปัจจุบัน (ณ วันที่ 27 กันยายน 2565) มีจำนวน 13.514 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า

หากพิจารณาปริมาณคาร์บอนเครดิตสะสมจากการดำเนินงานตามปกติ (BAU) ข้างต้น พบว่า มีสัดส่วนเพียง 3.52% ของยอดรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ขอบเขตที่ 1 และขอบเขตที่ 2) ที่ได้จากผลสำรวจองค์กรที่มีการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งหากรวมยอดการปล่อยของกิจการอีกสามในสี่ที่ยังมิได้เปิดเผยข้อมูล ตัวเลขสัดส่วนการลดต่อการปล่อย จะต่ำกว่านี้อีกมาก

ดังนั้น การจะบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสให้ได้นั้น ภาคเอกชนจำต้องตระหนักและปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจให้ตอบสนองต่อการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง


[ข่าวประชาสัมพันธ์]