สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดผลสำรวจสถานภาพความยั่งยืนของกิจการไทย ในงาน “The State of Corporate Sustainability in 2023” พร้อมแนะนำเครื่องมือประเมิน Double Materiality (ทวิสารัตถภาพ) เพื่อระบุประเด็นสาระสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) สำหรับการพัฒนายกระดับความยั่งยืนของกิจการตามมาตรฐานในระดับสากล
สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งเน้นงานส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการร่วมกับภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง ได้ทำการประมวลข้อมูลความยั่งยืนของกิจการ 904 แห่ง เป็นบริษัทจดทะเบียน 805 แห่ง กองทุนและองค์กรอื่นๆ อีก 99 ราย เพื่อนำเสนอทิศทางและกระแสนิยมของการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนขององค์กร ทั้งในมุมมอง GRI (Global Reporting Initiative), ESG (Environmental, Social and Governance) และ SDGs (Sustainable Development Goals) โดยริเริ่มสำรวจเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2561 และได้ดำเนินการเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน
นายวรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ ได้กล่าวในการเปิดผลสำรวจสถานภาพความยั่งยืนของกิจการ ปี 2566 ที่จัดขึ้นวันนี้ (21 ธันวาคม 2566) ว่า “ผลการประเมินสถานภาพการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของกิจการที่ทำการสำรวจทั้งหมด 904 ราย พบว่า ในปี 2566 มีคะแนนรวมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 3.53 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วและปีก่อนหน้าที่มีคะแนนรวมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.46 คะแนน (ปี 2565 จากการสำรวจ 854 ราย) และ 2.2 คะแนน (ปี 2564 จากการสำรวจ 826 ราย)”
นางสาววีรญา ปรียาพันธ์ ผู้อำนวยการประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน สถาบันไทยพัฒน์ กล่าวเสริมว่า “ประเด็นความยั่งยืนที่มีการเปิดเผยสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ ผลเชิงเศรษฐกิจ (GRI 201) การฝึกอบรมและการให้ความรู้ (GRI 404) ความหลากหลายและโอกาสแห่งความเท่าเทียม (GRI 405) ขณะที่ประเด็นด้าน ESG ที่มีการเปิดเผยสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ ความหลากหลายในโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท ความเป็นอิสระในคณะกรรมการบริษัท จริยธรรมและการต้านทุจริต ส่วนการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่มีการเปิดเผยสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ เป้าหมายที่ 8 เศรษฐกิจและการจ้างงาน และเป้าหมายที่ 16 สังคมและความยุติธรรม”
นอกจากการเปิดเผยข้อมูลผลสำรวจประจำปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ยังได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง “Double Materiality: The Financial + Impact Disclosure” แนะนำเครื่องมือประเมิน Double Materiality (ทวิสารัตถภาพ) เพื่อระบุประเด็นสาระสำคัญด้าน ESG สำหรับการพัฒนายกระดับความยั่งยืนของกิจการตามมาตรฐาน ESRS (European Sustainability Reporting Standards) โดยคำนึงถึงผลกระทบทางการเงินอันเกิดจากปัจจัยความยั่งยืนที่มีต่อการสร้างคุณค่ากิจการ และผลกระทบอันเกิดจากการดำเนินงานขององค์กรที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปพร้อมกัน
นายฌานสิทธิ์ ยอดพฤติการณ์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า “สารัตถภาพที่ได้ตามการวิเคราะห์ทางการเงิน (Financial Materiality) จะเป็นข้อมูลส่วนที่สนองความต้องการของผู้ลงทุนและผู้ถือหุ้น (Shareholders) ที่มุ่งตอบโจทย์ความยั่งยืนของกิจการ ขณะที่สารัตถภาพที่ได้ตามการวิเคราะห์ผลกระทบ (Impact Materiality) จะเป็นข้อมูลส่วนที่สนองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ที่มุ่งตอบโจทย์ความยั่งยืนโดยรวม”
ในงานครั้งนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ยังจัดพิธีมอบรางวัล Sustainability Disclosure Award ประจำปี 2566 ให้แก่องค์กรสมาชิกประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน (Sustainability Disclosure Community: SDC) ที่ได้เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนอันประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ โดยรางวัลที่มอบให้กับองค์กรในปีนี้ ประกอบด้วย Sustainability Disclosure Award จำนวน 54 รางวัล Sustainability Disclosure Recognition จำนวน 50 รางวัล และ Sustainability Disclosure Acknowledgement จำนวน 28 รางวัล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
สถาบันไทยพัฒน์: จินตนา จันสน / ปิยเลขา ไหล่แท้ โทร 0-2930-5227
No comments:
Post a Comment